ส.กุ้งไทยวอนรัฐช่วยเหลือหลังสหรัฐหาเหตุกีดกันการค้าหวั่นกระทบส่งออกทั้งระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2012 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมกุ้งไทยกำลังประสบกับปัญหาสำคัญ เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯได้จัดให้ไทยเป็นหนึ่งใน 74 ประเทศที่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมง อาหารทะเล เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาล และหนังสือประเภทตำราเรียน ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สหรัฐฯจับตามมองธุรกิจประมงไทยเป็นธุรกิจที่แฝงการค้ามนุษย์ มีระดับความรุนแรงในการเฝ้าระวังอยู่ Tier 2 Watch List จะครบ 2 ปีติดต่อกันในสิ้นปี 2555 นี้ ซึ่งหากไม่มีการรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหานี้ ไทยจะถูกปรับลดชั้นไปอยู่ในบัญชี Tier 3 หรือประเทศที่ไม่ดำเนินการตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำและไม่ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาโดยอัตโนมัติ ยกเว้นประเทศไทยจะสามารถแสดงหลักฐานได้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมาได้มีพัฒนาการที่สำคัญสมควรให้ปรับขึ้นระดับจาก Tier 2 Watch มาเป็น Tier 2 หรือ Tier 1 และสามารถแสดงแผนงาน ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์

และถึงแม้ขณะนี้ไทยจะยังไม่ถูกจัดอยู่ในบัญชี Tier 3 แต่ปัจจุบันสหรัฐฯ ก็เริ่มใช้มาตรการกีดกันกุ้งไทยในข้อหาด้านแรงงานนี้แล้ว โดยออกประกาศห้ามหน่วยงานราชการทั้งหมดสั่งซื้อสินค้าจากไทย 5 ประเภทตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา และหนึ่งในนั้นคือ กุ้ง

"รัฐบาลต้องรีบนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาเพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในการเร่งดำเนินการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย กระทบอุตสาหกรรมกุ้งที่สร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาท"นายสมศักดิ์ กล่าว

นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวต่อว่า การส่งออกกุ้งไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสสุดท้ายลดลง 8% ทำให้ปริมาณการส่งออกปีนี้จะติดลบ 6-7% ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนตลาดครึ่งหนึ่งของลูกค้ารวมของไทย ก็มีปริมาณติดลบไปแล้ว 25% เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ประเทศคู่แข่งในอุตสาหกรรมกุ้ง ทั้งเวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ต่างเพิ่มการผลิตมากขึ้น และดัมพ์ราคาส่งออกลงมาแข่งกับไทยเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศของไทยได้จัดทำเอกสาร 2 ฉบับ ชี้แจงผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการของไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย, แนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labor Practices หรือ GLP) สำหรับใช้บนเรือประมงไทย, การติดตั้งระบบการติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System VMS), การจัดทำแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) สำหรับสถานประกอบการแปรรูปกุ้ง/สัตว์น้ำ หรือล้ง และโรงงานแปรรูปกุ้ง/อาหารทะเล (ห้องเย็น), การจัดทำรายการงานอันตรายสำหรับแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้ง/อาหารทะเล, การจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมง, การจัดทำจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบการเรือประมงไทย (Code of Conduct)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ