SCB ชี้วิกฤติยูโรโซนส่งผลกระทบภาคส่งออกไทยโดยตรงมากกว่าภาคการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 8, 2012 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เปิดเผยถึงผลกระทบของวิกฤติยูโรโซนที่มีต่อภาคธุรกิจและภาคการเงินของไทยว่า วิกฤติเศรษฐกิจในยูโรโซนทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง เนื่องจากยูโรโซนเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการที่ยูโรโซนเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่มีธนาคารระหว่างประเทศขนาดใหญ่จำนวนมาก ทำให้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านการเงินในยูโรโซนส่งผลกระทบกับตลาดการเงินทั่วโลกได้

โดยในแง่ผลกระทบของวิกฤติยูโรโซนที่มีต่อภาคธุรกิจของไทยนั้น ในภาคการส่งออกจะพบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากและโดยตรง เช่น อาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบหากวิกฤติยูโรโซนรุนแรงขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่นักท่องเที่ยวยุโรปจะเดินทางท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ยังมองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังมีศักยภาพที่ดี

ส่วนผลกระทบของวิกฤติยูโรโซนต่อภาคการเงินของไทยนั้น เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากสัดส่วนการกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ในไทยจากธนาคารยุโรปมีอยู่เพียง 20% ซึ่งต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกด้วยกันที่มีสัดส่วนการกู้ยืมจากธนาคารยุโรปสูงถึง 40%

นอกจากนี้ การที่ตลาดเงินและตลาดทุนมีสภาพคล่องจำนวนมากจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังสามารถระดมเงินสกุลต่างประเทศได้เพียงพอ ในขณะที่ธนาคารจากยุโรปลดบทบาทลง

นางสุทธาภา มองว่า การอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเป็นเวลานานเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและระยะกลางอย่างไร จึงทำให้ในระยะสั้นมีความผันผวนเกิดขึ้น เช่น ความไม่แน่ใจว่าสภาพคล่องสูงจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นในอนาคตหรือไม่ หรืออาจทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ การคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการที่จะออกมาเหล่านี้ยังสร้างความผันผวนให้กับเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรมองหาวิธีในการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินจากความผันผวนเหล่านี้ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ