ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มอง ปธน.สหรัฐเยือนอาเซียนหวังขยายบทบาท-สร้างโอกาสการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 15, 2012 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงการเยือนประเทศไทยในอย่างเป็นทางการของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ว่า การเดินทางเยือนไทยของผู้นำสหรัฐฯ ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่การมาเยือนของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชเมื่อเดือนสิงหาคม 2551

สำหรับในปี 55 คาดว่าการส่งออกของไปยังสหรัฐฯ อาจมีมูลค่าประมาณ 23,100 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 6(สูงกว่าภาพรวมการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5) ส่วนแนวโน้มในปี 2556 ที่สหรัฐฯ อาจเผชิญความท้าทายในการฝ่าหน้าผาการคลัง หรือ Fiscal Cliff ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าโอกาสของการเกิดภาวะ Fiscal Cliff เต็มรูปแบบ น่าจะอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น สัญญาณบวกจากเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมถึงการประคองตัวของโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะมีความต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้า น่าจะทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2556 มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 7-12

แม้ว่าสหรัฐฯ ยังคงบทบาทการเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นตลาดอันดับ 1 สัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 20 ของการส่งออกรวมของไทยในช่วง 2 ทศวรรษก่อน กลับเหลือสัดส่วนเพียงราวร้อยละ 10 ในปัจจุบัน ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วยเช่นกัน โดยส่วนแบ่งตลาดของสินค้าสหรัฐฯ ในอาเซียนลดลงจากที่เคยสูงราวร้อยละ 20 ในช่วง 2 ทศวรรษก่อน เหลือเพียงร้อยละ 7.5 ในปัจจุบัน ในขณะที่จีนทวีความสำคัญกับไทยและอาเซียนมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มที่สหรัฐฯ เองก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศในการขับเคลื่อนการเติบโตของตนเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากรายได้ของสหรัฐฯ ที่มาจากภายนอกประเทศ (รวมการส่งออกสินค้าและบริการ และรายรับอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ) ในปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 18.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ จากใน 2 ทศวรรษเคยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 12.7

ดังนั้น การที่สหรัฐฯ แสดงท่าทีชัดเจนในการเร่งสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในแถบเอเชียนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงมุมมองของสหรัฐฯ ต่อบทบาทของชาติเอเชีย ซึ่งกำลังเป็นขั้วเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งฐานของขนาดเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยหากพิจารณาถึงอาเซียนที่จะมีการรวมเป็นตลาดเดียวภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ในปี 58 แล้ว ขนาดเศรษฐกิจอาเซียนจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย เป็นรองเพียงจีนและญี่ปุ่นเท่านั้น

อาเซียนเป็นตลาดสำคัญที่ธุรกิจจากนานาประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ ต่างให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดอาเซียนกลับลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ จากที่เคยสูงราวร้อยละ 20 ของการนำเข้ารวมของอาเซียนในช่วง 2 ทศวรรษก่อน ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 7.5 ในปี 2554 เช่นเดียวกันกับบทบาทความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ ต่ออาเซียนก็มีทิศทางที่ลดลง ในขณะที่จีนทวีความสำคัญต่ออาเซียนเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการเป็นตลาดรองรับสินค้าจากอาเซียน และการเป็นผู้ป้อนสินค้าให้แก่ประเทศอาเซียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของอาเซียนจะมีมูลค่าแตะ 3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปี 58 จากประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปี 55 โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ต่อปี และขนาดจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้ การเดินทางเยือน 3 ชาติในอาเซียนของผู้นำสหรัฐฯ ในครั้งนี้ แฝงเจตนารมณ์ที่ต้องการขยายบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ประกอบด้วย 1) การสานกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership Agreement) เพื่อดึงนานาประเทศให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น

2) การวางกลยุทธ์รุกเมียนมาร์อย่างเข้มข้นมากขึ้นต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ภายหลังจากเมียนมาร์เปิดประเทศ สะท้อนถึงการยอมรับสถานะของเมียนมาร์ในเวทีโลกและพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญ

3) การยกระดับบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ซึ่งการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ อาเซียนซัมมิท 2012 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 มีเจตนาแสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ที่มีต่ออาเซียนในฐานะพันธมิตรที่สำคัญยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจย่อมมีมิติที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรอบ TPP เป็นกรอบความตกลงที่มีจุดเริ่มจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีความเข้มข้นของการเปิดเสรีมากกว่ากรอบที่ไทยเคยเจรจาในระดับอาเซียน เช่น ภาคการบริการ ภาคการเงิน การลดการอุดหนุนภาคการเกษตร สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ดังนั้น แนวทางการต่อรองเจรจาจึงต้องประเมินความพร้อมของไทยในสาขาเหล่านี้อย่างรอบคอบ รัดกุม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมมาตรการป้องกันและรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP ก็จะต้องเปิดเสรีในระดับเดียวกันให้แก่สมาชิกทั้งหมดใน TPP ด้วย และเนื่องจากสมาชิกอาเซียนมีทั้งประเทศที่เป็นสมาชิก TPP แล้ว และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก TPP จึงอาจเกิดเงื่อนไขการเปิดเสรีที่เหลื่อมล้ำแตกต่างกันภายในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง นอกจากนี้ การที่กลุ่มการค้าเสรีในปัจจุบันมีลักษณะของการไขว้เป็นสมาชิกซ้อนกันอยู่หลายกรอบ ทั้ง AEC, TPP, RCEP และอาจมีกรอบอื่นๆ อีกนั้น

ประเด็นพิจารณาจึงต้องมองข้ามไปถึงกรอบที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแต่มีประเทศที่เชื่อมโยงกับไทยเข้าไปเป็นสมาชิกในกรอบนั้นด้วย ทั้งนี้เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจจากประเทศภายนอกกรอบความตกลงที่มีกับไทยนั้น อาจเข้ามาโดยช่องทางผ่านประเทศในกลุ่มที่ไทยร่วมเป็นสมาชิกความตกลงการค้าเสรีอยู่ด้วยแล้ว เช่น ธุรกิจบริการที่ไม่ใช่สัญชาติอาเซียนแต่เป็นสมาชิก TPP หากเข้ามาตั้งบริษัทลูกจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก TPP แล้วนั้น บริษัทลูกของต่างชาติรายนั้นจะสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขความตกลงในกรอบ AEC ได้หรือไม่ เป็นต้น ประเด็นดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาควรต้องคำนึงถึง และอาจต้องหยิบยกเข้าสู่การหารือในเวทีการเจรจากับสมาชิกภาคีเพื่อป้องกันช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ