ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไทยปี 56 โต 10-15% รับผลจากร่างกม.เลี่ยง Fiscal Cliff ผ่านยกแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2013 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่สภาคองเกรสและทำเนียบขาวสามารถหาบทสรุปในการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ไปได้ในครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับโจทย์การคลังของสหรัฐฯ แต่ก็น่าจะเป็นสัญญาณในเชิงบวกสำหรับการแก้โจทย์ทางด้านการคลังอื่นๆ โดยเฉพาะการเจรจาตัดลดงบรายจ่ายของรัฐโดยอัตโนมัติ และการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะที่รออยู่ในช่วงประมาณ 2 เดือนข้างหน้า

โดยความเป็นไปได้ของสถานการณ์พลิกผันของแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2556 ที่ลดระดับลงไปอย่างมีนัยสำคัญนี้ ย่อมช่วยลดทอนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยให้น้อยลงตามไปด้วย

โดยวันนี้ตลาดการเงินโลกรับข่าวดีหลังปีใหม่ที่กฎหมายแก้หน้าผาการคลังสหรัฐฯ (Fiscal Cliff) ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส โดยวุฒิสภา (คะแนนเสียง 89:8) และสภาผู้แทนราษฎร (คะแนนเสียง 257:167) ได้ลงมติรับร่างกฎหมายเลี่ยง Fiscal Cliff ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ซึ่งทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2556 ไม่ประสบกับสถานการณ์พลิกผันจากแรงฉุดครั้งใหญ่ทางด้านการคลัง

สำหรับประเด็นการคลังอื่นๆ ที่ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสจะต้องหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ภายในช่วง 2 เดือนข้างหน้า คือ 1.รายละเอียดของการตัดลดงบประมาณรายจ่ายโดยอัตโนมัติวงเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ สำหรับในช่วง 10 ปีข้างหน้า และ 2.การปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะขึ้นจาก 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลจากการผ่านร่างกฎหมายแก้ Fiscal Cliff และสัญญาณเชิงบวกสำหรับการหาข้อสรุปแก้โจทย์การคลังที่เหลืออยู่ในช่วง 2 เดือนข้างหน้าของสหรัฐฯ นี้ น่าจะส่งผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทย โดยผลทางตรงอาจสะท้อนผ่านความต่อเนื่องของโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ก็น่าจะช่วยเพิ่มสัญญาณเชิงบวกต่อภาคการส่งออกของไทยให้สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นกลจักรสำคัญในการช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2556 โดยคาดว่าการส่งออกไทยอาจขยายตัวขึ้นไปที่ร้อยละ 10-15 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 12.5) และช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับประมาณร้อยละ 5.0 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 4.5-5.5)

ส่วนผลทางอ้อมนั้น อาจสะท้อนผ่านมาทางการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ฯ ภายใต้ความสำเร็จในการแก้ปมการคลังของสหรัฐฯ ให้พ้นจากสถานการณ์ที่เลวร้าย ซึ่งก็คงจะบรรเทาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยลดต้นทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงินสำหรับผู้ประกอบการไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ