รายงานของธนาคารกลางระบุว่า ดัชนีทัศนคติเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ ซึ่งเป็นมาตรวัดการอนุมัติสินเชื่อในทางปฏิบัติของภาคธนาคารในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ -2 สำหรับช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ลดลงจาก +2 ในไตรมาสก่อนหน้า
ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่แตะระดับ -4 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 โดยธนาคารพาณิชย์เกาหลีใต้ระบุว่าศักยภาพในการชำระหนี้ของทั้งบริษัทต่างๆและภาคครัวเรือนจะอ่อนแรงลง อันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ เช่น วิกฤตการคลังในยูโรโซนและการปรับตัวขาลงของเศรษฐกิจโลก
ดัชนีดังกล่าวประเมินจากการสำรวจความเห็นของธนาคารของเกาหลีใต้ 16 แห่งโดยธนาคารกลางระหว่างวันที่ 10-24 ธ.ค. ตัวเลขดัชนีที่ต่ำกว่า 0 หมายถึง จำนวนธนาคารที่จำกัดการอนุมัติเงินกู้มีจำนวนมากกว่าจำนวนธนาคารที่ผ่อนคลายเกณฑ์การกู้ยืม
ด้านดัชนีย่อยสำหรับสินเชื่อที่ใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ที่ระดับ +3 ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อน และคาดว่าธนาคารพาณิชย์เกาหลีใต้จะยังคงขยายสินเชื่อที่ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยสัดส่วนเงินกู้ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของยอดสินเชื่อทั้งหมดภายในสิ้นปี 2559
ในขณะเดียวกัน ดัชนีที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อภาคครัวเรือนอื่นๆ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต อยู่ที่ -3 ในไตรมาสแรก อันเนื่องมาจากการคาดการณ์เกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่อ่อนแรงลง
ดัชนีทัศนคติต่อการปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ลดลงสู่ระดับ -3 ในไตรมาสแรก จากระดับ 0 ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านั้น ขณะที่ดัชนีสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ลดลงจาก 0 สู่ -6 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุว่า ความเสี่ยงด้านสินเชื่อในภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก เนื่องจากความไม่แน่นอนภายในประเทศ พร้อมกับเสริมว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะผลักดันให้ธนาคารจำกัดการปล่อยกู้แก่ภาคเอกชน
ดัชนีความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ซึ่งเป็นมาตรวัดความเสี่ยงจากความล้มเหลวในการชำระหนี้ของของผู้ขอกู้นั้น เพิ่มขึ้นเป็น 31 ในช่วง 3 เดือนแรกถึงเดือนมีนาคม จากระดับ 30 ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า สำนักข่าวซินหัวรายงาน