BOI ถกยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่เน้น 10 กลุ่มอุตฯ คาดเสนอบอร์ดได้มี.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 14, 2013 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังกล่าวเปิดงานสัมมนา“ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่: เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน" ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอมีความตั้งใจที่จะรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ ทั้งจากการจัดสัมมนาในวันนี้ และจากงานสัมมนาที่จะจัดขึ้นอีก 4 ครั้งในทุกภูมิภาคมาประกอบการพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ของการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งคาดว่าในเดือนมีนาคมจะสามารถนำเสนอต่อคณะกรรมากรส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลังเป็นประธาน และคาดว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นไป

“ที่ผ่านมาการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ก็รับฟังความเห็นและข้อเสนอจากภาคเอกชน เพราะนโยบายที่จะส่งเสริมการลงทุนต้องตอบสนองความต้องการของนักลงทุน ครั้งนี้เราก็ต้องฟังเสียงจากนักลงทุนเช่นเดียวกัน แต่สถานการณ์ในปัจจุบันและในอนาคตทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การยกระดับห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรม การลดภาระทางการคลังด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในแต่ละภูมิภาคหรือพื้นที่ชายแดนเพื่อกระจายความเจริญ และการเพิ่มบทบาทใหม่ของบีโอไอเพื่อสามารถให้บริการและการอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้นทั้งก่อนและหลังการลงทุน ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ"นายประเสริฐกล่าว

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่าภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน เน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและ โลจิสติกส์ (เช่น เขตอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ น้ำประปาหรือน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า สนามบินพาณิชย์ ศูนย์บริการโลจิสติกส์) 2.กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน (เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี เยื่อกระดาษหรือกระดาษ เครื่องจักร) 3. กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ (เช่น เครื่องมือแพทย์ ยา อาหารทางการแพทย์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์)

4. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กิจการ Recycle การบริการบำบัดน้ำเสียและกำจัดกากอุตสาหกรรม การบริการด้านจัดการพลังงาน (ESCO) 5. กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม (เช่น R&D, HRD, Engineering Design, Software, บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ บริการสอบเทียบมาตรฐาน กิจการ ROH กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน) 6. กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูง (เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง)

7. อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร (เช่น อาหารแปรรูป วัตถุเจือปนอาหาร สารสกัดจากสมุนไพร การปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล) 8.อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness (เช่น กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยวและกีฬา การสร้างภาพยนตร์ไทยและบริการที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ) 9. อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้า อากาศยาน ต่อเรือหรือซ่อมเรือ) 10. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น Electronic Design, Organics & Printed Electronics, HDD & SDD และชิ้นส่วน, เซลล์แสงอาทิตย์, White Goods )

ทั้งนี้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่บีโอไอจะมุ่งเน้นให้การส่งเสริมจะครอบคลุมกิจการประมาณ 130 ประเภท โดยแบ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 100 กิจการ ซึ่งเป็นกิจการที่มีความสำคัญสูงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและมีความจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ส่วนอีกประมาณ 30 กิจการ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจัก วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน การนำเข้าช่างฝีมือและผู้ชำนาญการชาวต่างชาติ ขณะที่กิจการที่เคยให้ส่งเสริมและอยู่ในข่ายที่จะเลิกให้การส่งเสริม มีปัจจัยในการพิจารณาเลิกส่งเสริม คือ เป็นกิจการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ การใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับต่ำ กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ มีน้อย ใช้แรงงานเข้มข้น และสามารถดำเนินกิจการได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม

นอกจากนี้ ยังมีกิจการที่บีโอไออาจเลิกส่งเสริมเพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก หรือใช้พลังงานสูง รวมถึงกิจการที่เป็นกิจการสัมปทาน หรือกิจการผูกขาดที่รัฐคุ้มครองอยู่แล้ว และกิจการที่ขัดกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

นายอุดม กล่าวต่อว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ จะให้ความสำคัญเพิ่มเติมด้านวิจัยพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะเพิ่มระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-3 ปี รวมทั้งเปลี่ยนการส่งเสริมตามเขตพื้นที่เป็นการส่งเสริมให้เกิด คลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค อาทิ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยางพารา คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่น คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยาน คลัสเตอร์วิทยาศาส ตร์และเทคโนโลยี และคลัสเตอร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ