แม้ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยากในระยะสั้น เพราะปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ เป็นผลมาจากกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งเป็นไปทั้งภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังคงมีอีกหลายตัวแปรที่อาจมีผลต่อมุมมองการลงทุน และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปีที่สหรัฐฯ น่าจะสามารถผ่านพ้นโจทย์ท้าทายทางด้านการคลัง และสถานการณ์วิกฤตหนี้ยูโรโซนที่อาจเข้าสู่ช่วงมีเสถียรภาพ จะเป็นปัจจัยที่เพิ่มสัญญาณเชิงบวกให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศแกนสำคัญของโลกให้มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในภาพกว้าง ซึ่งขอบเขตของผลกระทบเป็นรายอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ทั้งการพึ่งพาตลาดส่งออก ตลาดในประเทศ สัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ตลอดจนความสามารถในการปรับตัว และการบริหารจัดการของผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม
โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือ ธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ(Import Content) ค่อนข้างน้อย และประสบปัญหาการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันอยู่แล้ว ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, อาหารแปรรูป, สิ่งทอ, เสื้อผ้าสำเร็จรูป, รองเท้า, ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง, เฟอร์นิเจอร์ เป็นหลัก
"แม้ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่ออุตสาหกรรมบางกลุ่ม แต่การปรับตัวของค่าเงิน ก็มิใช่โจทย์เพียงมิติเดียวที่มีผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย" เอกสารเผยแพร่ระบุแนวโน้มข้างหน้าในภาวะที่เงินบาทยังมีโอกาสปรับตัวผันผวนในทิศทางที่แข็งค่า ประกอบกับการรับมือกับความท้าทายด้านต้นทุนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนั้น นอกเหนือจากการเน้นพัฒนาคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและมีความพร้อม ควรจะอาศัยจังหวะนี้ในการแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน ด้วยการขยายกิจการหรือขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในอนาคต เพื่อจับจองพื้นที่ก่อนหน้าคู่แข่งหลักอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย หลังจากที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ทยอยบุกเบิกรุกเข้าไปทำธุรกิจในหลายๆ ประเทศในอาเซียนบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ นอกจากการปรับตัวในระยะสั้นผ่านการกระจายตลาดส่งออก, การนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งที่มีต้นทุนถูกกว่า, การใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านต่างๆ และการบริหารจัดการต้นทุนและสายการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องแล้ว การแสวงหาโอกาสขยายกิจการ/การลงทุนไปยังต่างประเทศ คงจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่เอื้อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถตอบโจทย์การรักษาความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้ในระยะยาว