(เพิ่มเติม) นายกเชื่อกู้ 2 ล้านลบ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ทำหนี้สาธารณะสูงเกิน50%

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday January 26, 2013 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทไม่ทำให้หนี้สาธารณะสูงอย่างที่กังวล ที่จะออกมาเป็นพ.ร.บ. โดยจะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ และให้ก.คลังรักษาวินัยการเงินการคลัง กำหนดหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% รวมทั้งตอกย้ำยุทธศาสตร์ประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พร้อมทั้งเร่งปรับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดต้นทุนโลจิสติกส์ ดันให้ประเทศไทยเป็นจุดเด่นน่าลงทุนสำหรับนานาชาติ และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
"การจัดทำเป็น พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทจะสร้างความมั่นใจ เกิดความชัดเจนซึ่งต่างกับงบประมาณปกติที่เปลี่ยนแปลงได้ และผ่านกลไกการตรวจสอบทั้ง 2 สภา จริงๆสถานะคงคลังกับทุนสำรองของเราก็ยังดี และที่หลายๆคนกังวลเรื่องหนี้สาธารณะ เราได้ย้ำกับกระทรวงการคลังให้รักษาวินัยการเงินการคลัง ภาพรวมหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50% การลงทุน 2 ล้านล้านบาทไม่ได้ลงทุนครั้งเดียวแต่จะค่อยๆทยอยจ่าย"นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวในรายการ"นายกยิ่งลักษณ์พบประชาชน"

นอกจากนี้ การออกพ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทจะทำให้การดำเนินโครงการมีความต่อเนื่องหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รวมทั้งยังสร้างบรรยากาศการลงทุน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประกาศยุทธศาสตร์ของประเทศมาจากเพื่อที่จะให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยุทธศาสตร์แรก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จากที่ไทยถูกปรับจากประเทศระดับจากรายได้น้อยมาเป็นรายได้ปานกลาง สิ่งที่จะต้องทำคือปรับขีดความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพชีวิต ขายของที่คุณภาพมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดเด่นน่าลงทุนสำหรับนานาชาติ

"การประกาศยุทธศาสตร์ของประเทศ จากการทำเวิร์คชอปหลายครั้งที่ผ่านมา เห็นว่ามีปัญหาตรงไหน ก็จะมาเป็นนโยบายต่างๆ เริ่มจริงๆ มาจากเวิร์คชอปกับปลัดกระทรวงที่กระทรวง สุดท้ายก็มาตอบโจทย์ เป็นที่มาของการร่างยุทธศาสตร์ประเทศ 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่"นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวเสริมว่า โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยเทียบโลก ไทยอยู่ในอันดับต่ำซึ่งอยู่อันดับที่ 49 แต่ก็เป็นโอกาสถ้ามีการลงทุนที่เหมาะสม การปรับก็เพื่อลดต้นทุนด้านต่างๆ เช่น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์มีต้นทุน 15.2 % ของจีดีพี ถ้าลดได้เป็นสิ่งที่สำคัญ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ต้นทุนใหญ่ที่สุดที่พบคือต้นทุนขนส่ง 15% ของจีดีพี ถ้าลดได้สัก 3-4% ก็จะดีขึ้น ผลทางอ้อมต่อมาคือการกระจายความเจริญ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เกิดการจ้างงาน มีการจ้างงานดีขึ้น เศรษฐกิจก็ดีขึ้น เป็นสิ่งที่จะได้ตามมา

นายชัชชาติ กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 5-7 ปี จะสำเร็จได้ต้องตอบโจทย์ประเทศที่จะช่วยพลิกโฉมประเทศ มีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน และมีความโปร่งใส โดยจะมีการเปลี่ยนโหมดจากทางรถมาใช้ทางรางมากขึ้น ทั้งนี้ ในปีนี้จะเริ่มทำการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง และจะประมูลให้ครบในปี 57 และปี 62 จะเปิดให้บริการ 410 กม. มี 4 เส้นทาง และจะจัดเก็บค่าโดยสารให้ถูกกว่าค่าโดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ เช่น กรุงเทพ- เชียงใหม่ อาจจัดเก็บ 1,300 -1,500 บาท จะช่วยให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนคน และยังเป็นการรองรับในการเปิดรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ด้วย

ขณะเดียวกันจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าครบ 10 สายในกรุงเทพในปี 62 รวมระยะทาง 410 กิโลเมตร จะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 4 ล้านคนต่อวัน จากปัจจุบันที่มี 8 แสนคนต่อวัน จากรถไฟฟ้าบีทีเอส 6 แสนคน/วัน และรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 แสนคน/วัน รวมทั้งจะมีการใช้ตั๋วร่วม ลดการใช้เงินสด อีกทั้งจะมีการลงทุนรถไฟทางคู่ที่อาจจะตั้งองค์กรใหม่มาบริหารงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ