ก.อุตสาหกรรม ออกมาตรการเร่งด่วนช่วย SMEs ลดผลกระทบขึ้นค่าแรง-เพิ่มแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2013 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนงาน/มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SMEs ซึ่งประกอบด้วยมาตรการที่สำคัญ ดังนี้

1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบ SMEs โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบฯ มาก ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้

โครงการคลินิกอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภาคการผลิตจำนวน 3,236 ราย วงเงิน 201.75 ล้านบาท ให้สามารถพัฒนาผลิตภาพ ลดต้นทุน และร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) จัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยสถานประกอบการ และจัดทำแผนธุรกิจให้กับ SMEsในการขอสินเชื่อ รวมทั้งให้คำปรึกษา SMEs ในการใช้สินเชื่อให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พัฒนา SMEs ภาคการค้าและบริการ โดยให้ความรู้ในการปรับระบบบริหารจัดการของ SMEs จำนวน 500 ราย และให้คำปรึกษา SMEs ในการพัฒนาผลิตภาพเชิงลึก 100 ราย โดยใช้งบประมาณจากกองทุน สสว. วงเงิน 25 ล้านบาท

โครงการอัดฉีดเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs โดยร่วมกับสถาบันการเงิน สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบฯ ด้วยการชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ในปีแรก เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายให้กับ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่าย เสริมสภาพคล่องทางการเงิน และรักษาสภาพการจ้างงาน ให้กับ SMEs ภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ จำนวนทั้งสิ้น 6,300 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 6,300 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุน สสว. 200 ล้านบาท

โครงการร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาเครื่องจักร โดยร่วมลงทุนกับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบฯ เพื่อการปรับเปลี่ยน/ปรับปรุงเครื่องจักรให้กับ SMEs ในสัดส่วนร่วมลงทุนร้อยละ 15-35 ของทุนจดทะเบียน แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาการร่วมลงทุน 5 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ขยายส่วนแบ่งด้านการตลาด รวมทั้งเพิ่มผลิตภาพให้กับ SMEs ภาคการผลิตจำนวน 200 ราย โดยใช้งบประมาณจากกองทุน สสว. 1,000 ล้านบาท

มาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุน โดยปรับปรุงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขให้กับผู้ประกอบการ SMEs เป็นกรณีเฉพาะ ได้แก่ การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนให้กับ SMEs ที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงินให้กับ SMEs ใน 57 กิจการ ที่ต้องการขยายการลงทุน ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจ สามารถ ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556

การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าบริการรายปี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 - 30 กันยายน 2559 และยกเว้นค่าบริการในการต่อใบอนุญาต ค่าบริการออกหนังสือรับรองสิทธิประโยชน์ทางภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะออกในปี 2556 - 2557 ให้กับ SMEs ในนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดภาระ บรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโรงงาน และรักษาการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ จำนวนเกือบ 100,000 ราย ได้ปีละประมาณ 300 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิน 1,000 ล้านบาท

2. โครงการสนับสนุนการปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร การใช้พลังงานทดแทน และการประหยัดพลังงาน (Machine Fund) โดยร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ SMEs ที่ต้องการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักรเดิม รวมถึงการซ่อมบำรุง และเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนเครื่องจักร ระบบเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน ด้วยการชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 5 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงินไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อราย ให้กับ SMEs ภาคการผลิตจำนวนทั้งสิ้น 5,000 ราย โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลวงเงิน 3,400 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี

3. แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพด้วยความรู้และปัญญาระยะที่ 2 กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งจัดทำแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพด้วยความรู้และปัญญา โดยเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ในระยะที่ 1 ที่สิ้นสุดในปี 2555 ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจจากการดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 149 โครงการ งบประมาณรวม 1,536 ล้านบาท สามารถพัฒนาผลิตภาพให้กับ SMEs จำนวน 3,500 โรงงาน ใน 29 สาขาอุตสาหกรรม พัฒนาทักษะแรงงานจำนวนกว่า 80,000 ราย พัฒนานวัตกรรม 172 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าเพิ่ม 300 ล้านบาทต่อปี สามารถลดต้นทุนการผลิตคิดเป็นมูลค่า 2,700 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มยอดขายคิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวม 7,000 ตันต่อปี

ส่วนการจัดทำแผนฯ ระยะที่ 2 มุ่งเน้นการยกระดับโครงสร้างการผลิตด้วยการต่อยอดการเพิ่มผลิตภาพ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย การพัฒนานวัตกรรมไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และการสร้างรายได้เพิ่มด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป

อนึ่ง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 รัฐบาลได้ประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และหากนับรวมการปรับค่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 จะพบว่าค่าแรงขั้นต่ำได้ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 35.75 — 88.68 โดยอุตสาหกรรมขนาดเล็กมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 5.75 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.63 และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.83 โดยเฉลี่ยต้นทุนรวมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.38

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.73 รองลงมา คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.12 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.63


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ