SME BANK เตรียมขอคลังเพิ่มทุน 3-6 พันลบ.นอกเหนือออกหุ้นกู้ เพื่อเพิ่มเงินกองทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 6, 2013 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย ชุณหวชิร กรรมการ และประธานคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอกระทรวงการคลังเพิ่มทุน 3-6 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องรองรับการดำเนินธุรกิจ นอกเหนือจากการเสนอให้กระทรวงการคลังออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ เพิ่มเติมให้อีก เพื่อเป็น bridge loan เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2 เนื่องจากปัจจุบัน ธนาคารมีระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงติดลบ 0.95%
สำหรับปัญหาหนี้เสียที่ปัจจุบันมีกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 40% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 9.7 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าที่จะแก้หนี้กลับคืนมา 1.07 หมื่นล้านบาท ทำให้ในสิ้นปี 56 NPL จะลดเหลือ 30% หรือเหลือ 2.8 หมื่นล้านบาท และลดเหลือ 1.7 หมื่นล้านบาทภายในปี 58 ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของธนาคารอย่างชัดเจน ลงลึกในรายละเอียด โดยเฉพาะการจัดการหนี้เสียดังกล่าว มีการจัดแบ่งหนี้เป็น 3 กลุ่ม คือ NPL รายย่อย มูลค่า 50,000- 1 แสนบาท/ราย สินเชื่อตามนโยบายภาครัฐ (PSA) เริ่มส่งสัญญาณการเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวงเงินรวม 6-7 พันล้านบาท ส่วนนี้จะขอหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอรับเงินชดเชยเป็นระยะๆ และสินทรัพย์รอการขาย (NPA)
"ม.ค.ได้แก้หนี้ได้แล้วประมาณ 3-4 พันล้านบาท จากการติดตามอย่างเข้มข้น ตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว และ ก.พ.นี้คาดว่าจะได้คืนอีก 2 พันล้านบาท หากทำได้ตามแผนเราก็จะฟื้น...ปัญหาหนี้เกิดจากคุณภาพหนี้ไม่สมเหตุสมผลทั้งธุรกิจและการชำระหนี้ หนี้เสียส่วนใหญ่ตั้งสำรอง 38% แต่รายย่อยบางส่วนตั้ง 100% ถ้าแก้หนี้ได้หมื่น เราก็ได้คืนอีก 3.8 พันล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับที่บันทึกบัญชีแค่ 3 เดือน แต่จริงๆ มีการค้างชำระเป็นปีก็มี ส่วนนี้ อาจมีการบันทึกกลับได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท" นายพิชัย กล่าว

นอกจากนี้ จะต้องมีการจัดทำหน่วยงานสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิ คือ ระบบไอที ที่ต้องวางระบบ core banking เพื่อให้เกิดการทำงานมีประสิทธิภาพ ด้านบุคลากร จะต้องวางเป้าหมายในงานที่ทำให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีพนักงาน 1.7 พันคน จะไม่มีการให้ออก แต่ไม่เพิ่มคน ในส่วนที่เกษียณอายุ อาจมีการรับทดแทน ให้จัดทำแผนงานระยะ 5 ปี จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่ปล่อยสินเชื่อ อาจต้องปรับมาทำในส่วนการปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับการปล่อยสินเชื่อ อาจต้องวางหลักเกณฑ์ใหม่ให้ชัดเจนขึ้น การต้องปรับลดวงเงินให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอีรายย่อย เหลือวงเงิน ไม่เกิน 5 ล้านบาท/ราย เพิ่มดอกเบี้ยซึ่งอยู่ระดับต่ำ ที่ 5-6% ไม่เพียงพอรองรับความเสี่ยง เพิ่มเป็นอิงกับดอกเบี้ย MRR หรือเทียบเท่า 8%

นายพิชัย กล่าวว่า หากสามารถทำงานได้ตามแผนที่วางไว้ธนาคารจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น BIS ในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 2% จากสิ้นปี 55 ติดลบ 0.95% โดยจะต้องแก้หนี้ NPL ได้ 1.07 หมื่นล้านบาท ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 2 หมื่นล้านบาท และมั่นใจจะมีผลประกอบการพลิกเป็นกำไรได้ 4 พันล้านบาท จากปี 55 ที่ขาดทุนมากกว่า 6 พันล้านบาท และภายใน 5 ปี ยอดสินเชื่อของธนาคารจะเพิ่มจาก 9.7 หมื่นล้านบาท เป็น 1.5 แสนล้านบาท มีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง

"การควบรวมกิจการขึ้นอยู่กับนโยบาย แต่หากสามารถแก้หนี้เสียได้ ฟื้นฟูกิจการได้ตามแผน ให้กิจการรันต่อไปได้ สามารถสนองนโยบายของรัฐได้ ก็ไม่น่าจะมีการควบรวม" นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังมีกระแสต่างๆของธนาคารเกิดขึ้น ยอมรับว่า ทำให้ผู้ฝากเงินเกิดความตื่นตระหนักบ้าง แต่ยังไม่มีการถอนเงินออก หลังจากได้มีการรับฟังคำชี้แจงต่างๆเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการได้อย่างเข้าใจดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ