คลังมั่นใจสภาพคล่องเอื้อกู้ลงทุน 2ล้านลบ.ไม่สร้างปัญหาหนี้สาธาณะ-เงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 8, 2013 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนา"ยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ" ว่า สภาพคล่องในประเทศปัจจุบันเหมาะแก่การกู้เงินมาลงทุนในโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท กระทรวงการคลังรับผิดชอบในการกู้เงินจากตลาด โดยแต่ละปีหน่วยงานต่างๆกู้เงินจากระบบประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย สัดส่วนประมาณร้อยละ 37 รัฐบาลร้อยละ 36 รัฐวิสาหกิจ ประมาณร้อยละ 7 ส่วนที่เหลือเป็นภาคเอกชนกู้เพื่อขยายการลงทุน

สำหรับการกู้เพื่อรองรับโครงการลงทุน 2 ล้านล้านจะดำเนินการผ่านพันธบัตรรัฐบาลที่มีหลากหลายประเภท ตลอดระยะเวลาการลงทุนก่อสร้างในช่วง 7 ปี เฉลี่ยปีละ 1-2 แสนล้านบาท โดยขณะนี้กระทรวงการคลังมีพันธบัตรที่เปิดจำหน่าย ได้แก่ พันธบัตรอายุ 3, 5, 7, 10, 15, 20, 30, 50 ปี และยังมีพันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ โดยจะกระจายการกู้ไปยังหลายประเภท

ปัจจุบัน พันธบัตรออมทรัพย์เปิดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 ขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปีให้อัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 3.6 และ อายุ 10-30 ให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.2-4.6 นับว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำมาก ดังนั้น จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และอาจพลาดโอกาสได้ จึงต้องการให้ประชาชนช่วยกันสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ด้วยการซื้อพันธบัตรที่รัฐบาลได้เตรียมออกมาระดมทุนในช่วงนี้

กระทรวงการคลังมองว่าการกู้เงินรองรับโครงการดังกล่าวไม่ได้ทำให้มีกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศมากนัก โดยยอดหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มกราคม 56 มีสัดส่วนร้อยละ 45 แบ่งเป็นภาระหนี้ในประเทศร้อยละ 93 อีกร้อยละ 7 เป็นภาระหนี้ต่างประเทศ ซึ่งหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่ปิดความเสี่ยงไว้หมดแล้ว เหลือเพียงร้อยละ 3-4 ที่ยังต้องดูแลอยู่ ดังนั้น การบริหารหนี้ของประเทศจึงไม่น่าเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อฐานะทางการคลังของประเทศ

นางจุฬารัตน์ กล่าวยืนยันว่า การก่อหนี้เพื่อการลงทุน พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นไม่มาก ขณะที่กรอบความยั่งยืนทางการคลังกำหนดระดับหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี และการก่อหนี้ดังกล่าวเป็นการกู้เพื่อการลงทุน เป็นหนี้ที่มีคุณภาพทำให้เกิดรายได้กลับคืนมา จึงไม่น่าเป็นห่วง

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื่นฐานด้วยวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินเพื่อมาลงทุนระยะยาว เพื่อประโยชน์โดยรวม ไม่ใช่การกู้เพื่อนำไปใช้ในระยะสั้นให้เกิดความสิ้นเปลือง และเมื่อดำเนินการได้แล้วเสร็จ จะส่งผลต่อการพลิกโฉมการเดินทางขนส่งของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ และยังจะทำให้อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนเพ่มขึ้น ให้ได้ประโยชน์มากกว่าเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท

อีกทั้งจะมีส่วนช่วยในการทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น และในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ การลงทุนในครั้งนี้จะมีส่วนเพิ่มรายได้ประชาชาติสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อจีดีพีตลอด 7 ปีของโครงการ และเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ของการลงทุนเม็ดเงินการลงทุนจะเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน การค้าขาย และรายได้ประชาชาติที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่บัญชีเดินสะพัดอาจจะติดลบบ้าง เพราะมีการนำเข้าของสินค้าทุน แต่กลับมีส่วนช่วยในการเสริมศักยภาพของประเทศ และอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ่น แต่อยู่ในระดับที่ต่ำเพียง ร้อยละ 0.1 เท่านั้น ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่กระทบตาอเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ