สบน.เผยฟิทช์เพิ่มเพดานอันดับความน่าเชื่อถือประเทศจาก"BBB+"เป็น"A-"

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 9, 2013 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล (Foreign Currency Long-Term Issuer Default Rating) จากระดับ BBB เป็น BBB+ โดยมุมมองที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) และยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของรัฐบาล (Local Currency Long-Term Issuer Default Rating) ที่ระดับ A- โดยมุมมองที่มีเสถียรภาพ พร้อมทั้งปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของ ตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล (Foreign Currency Short-Term Issuer Default Rating) จากระดับ F3 เป็น F2 และปรับเพิ่มระดับเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) จากระดับ BBB+ เป็น A-

Fitch เห็นว่า การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยสะท้อนถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้ - เศรษฐกิจของไทยมีความยืดหยุ่นจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นติดต่อกันรวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ซึ่งความยืดหยุ่นดังกล่าวเป็นผลจากกรอบนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่น อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products: GDP) เฉลี่ยระหว่างปี 2551-2555 ที่ร้อยละ 2.9 สูงกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่ม BBB และ A ที่มีค่ากลางที่ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ ความผันผวนของอัตราการเจริญเติบโตเป็นไปในทางเดียวกับค่ากลางของกลุ่ม BBB ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รักษาระดับอัตราเงินเฟ้ออ้างอิงจากราคาผู้บริโภคไว้ในระดับต่ำที่ตัวเลขหลักเดียวมานานกว่า 1 ทศวรรษ รวมถึงประวัติความมีเสถียรภาพของราคาที่เอื้อมากกว่าประเทศในกลุ่ม BBB ได้เพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจในการดูดซับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด

  • Fitch ได้ทำการปรับปรุงการประเมินความเสี่ยงต่อการคาดการณ์นโยบายและสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่เกิดจากความตึงเครียดทางการเมืองและสังคม อัตราการลงทุนได้เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดำรงตำแหน่งและไม่ประสบเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงนอกกรอบกฎหมายหลังจากได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554
  • ภาคการเงินต่างประเทศของไทยถือเป็นจุดแข็งของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยเศรษฐกิจไทยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิในสัดส่วนร้อยละ 42 ของ GDP โดย ณ สิ้นปี 2555 สินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิของประเทศไทยมีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 45 ของ GDP ซึ่งดีกว่าค่ากลางของกลุ่ม BBB ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4 ปัจจัยนี้ทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับผลกระทบจากต่างประเทศได้มากและเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
  • อันดับความน่าเชื่อถือของไทยได้รับการสนับสนุนจากระดับหนี้ของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 30 ของ GDP ณ สิ้นปี 2555) Fitch คาดว่า งบประมาณจะยังคงสอดคล้องกับระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในภาพรวมที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ถึงแม้รัฐบาลมีแผนจะเพิ่มค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
  • รัฐบาลมีความคืบหน้าที่จับต้องได้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล โดยอายุคงเหลือ
เฉลี่ยของหนี้รัฐบาล (Average maturity) และอายุเฉลี่ยของหนี้รัฐบาล (Duration) ได้เพิ่มขึ้นจาก 5.7 ปี และ 4.8 ปี ตามลำดับ ในปี 2551 เป็น 7.9 ปี และ 5.4 ปี ตามลำดับ ในปี 2555 สัดส่วนหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลได้ลดลงจากร้อยละ 20 ของหนี้รัฐบาลทั้งหมดในปี 2543 เหลือเพียงร้อยละ 1.5 ในปี 2555
  • ในขณะที่ความสามารถทางการคลังในการชำระหนี้ยังคงมีความแข็งแกร่ง แต่จากการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการเพิ่มขึ้นของภาระผูกพันจากหนี้ของภาครัฐในภาพรวม ส่งผลให้ไม่มีการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลสกุลเงินบาทในครั้งนี้ ซึ่งทำให้ส่วนต่างระหว่างอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลบาทและสกุลเงินต่างประเทศแคบลง 1 Notch
  • ข้อจำกัดเบื้องต้นของผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ ได้แก่ ระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นอันสะท้อนถึงผลิตภาพในการผลิตที่ต่ำและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มน้อย หนี้ของภาคเอกชนโดยเปรียบเทียบอยู่ในระดับสูง และความตึงเครียดทางสังคมและการเมืองที่ลดลงแต่ยังคงดำรงอยู่

ปัจจัยหลักที่อาจนำไปสู่การปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือ ได้แก่ การเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยไม่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลจะช่วยลดช่องว่างด้านรายได้และการพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม A อย่างไรก็ดี Fitch คาดว่า แรงผลักดันที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือจากปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังจาก 2 ปีผ่านไปโดยเฉลี่ย, ความมีเสถียรภาพและการลดลงของสัดส่วนหนี้สาธารณะที่รวดเร็วกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน อันนำไปสู่ฐานะของประเทศที่เข้มแข็งขึ้น

ปัจจัยหลักที่อาจนำไปสู่การปรับลดความน่าเชื่อถือ ได้แก่ สัญญาณที่แสดงว่าเศรษฐกิจมีความร้อนแรงเกินไป อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง การเจริญเติบโตของสินเชื่อ และ/หรือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account) โดยไม่มีนโยบายที่เหมาะสมรองรับ ที่ทำให้ Fitch จะต้องทำการประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคและกรอบนโยบายการเงินโดยเฉพาะ, ความตึงเครียดทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นอีกในระดับที่รุนแรงจนก่อให้เกิดผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย

ทั้งนี้ ความน่าเชื่อถือและมุมมองอันดับความน่าเชื่อถืออ่อนไหวต่อสมมติฐานหลายประการ การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่า รัฐบาลไทยยังคงดำรงทิศทางการบริหารประเทศโดยการมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจโลก Fitch ตั้งสมมติฐานว่า ผู้รับผิดชอบด้านนโยบายจะรักษากรอบนโยบายอันก่อให้เกิดการเจริญเติบโตในระยะกลางถึงระยะยาวมากกว่าจะดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตในระยะสั้นซึ่งมีต้นทุนคือความผันผวนทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

อันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานว่าประเทศไทยจะไม่ถูกกระทบโดยเหตุการณ์ไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจและการเงินที่รุนแรงเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการหดตัวอย่างมีนัยสำคัญของ GDP และกระตุ้นให้เกิดความตึงตัวในระบบการเงิน Fitch มีสมมติฐานว่า ไม่มีความเสี่ยงอย่างรุนแรงของเสถียรภาพทางการเงินโลกที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ที่มีเศรษฐกิจเปิดอย่างประเทศไทย อาทิ การแยกตัวของประเทศในกลุ่มยูโรโซนหรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในประเทศจีน

Fitch มีสมมติฐานว่า ความตึงเครียดระหว่างประเทศในภูมิภาคจะไม่เร่งตัวขึ้น ซึ่งรวมถึงข้อพิพาทด้านพรมแดนของไทยกับกัมพูชา และความขัดแย้งทางดินแดนระหว่างจีนและญี่ปุ่นที่มีอยู่ในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ