ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไก่เนื้อปี 56 โตต่อเนื่อง รับอานิสงค์ญี่ปุ่นเปิดตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 18, 2013 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกไก่เนื้อของไทยในปี 2556 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.35-2.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 7-10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการขยายตัวร้อยละ 10 ในปี 2555 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งญี่ปุ่นและอียูที่มีแนวโน้มสดใสขึ้น โดยเฉพาะจากการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ที่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหากญี่ปุ่นอนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย เสริมกับการส่งออกไปยังตลาดอียูในปีนี้ที่คงจะเพิ่มขึ้นจากในปี 2555 ซึ่งมีมูลค่าเพียงประมาณ 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายหลังจากที่ไก่สดของไทยเพิ่งจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2555

สำหรับสินค้าไก่แปรรูปหรือไก่ปรุงสุกนั้น คาดว่าไทยจะยังคงเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของทั้งญี่ปุ่นและอียู (นอกเหนือจากการค้าภายในอียูกันเอง) ด้วยส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงหรือมากกว่าร้อยละ 50 ต่อเนื่องจากในปี 2555 ที่สัดส่วนการนำเข้าจากไทยโดยญี่ปุ่นอยู่ที่ราวร้อยละ 51.1 และอียูอยู่ที่ประมาณร้อยละ 58.3

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกไก่โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในปี 2556 มีดังนี้

ในส่วนตลาดญี่ปุ่น มีความเป็นไปได้ที่สินค้าไก่สดจากไทยจะไปทดแทนการนำเข้าจากบราซิล เนื่องจากไก่ของไทยนับว่าเป็นสินค้าที่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะในเรื่องฝีมือการตัดแต่งชิ้นส่วนที่สามารถผลิตได้ตรงกับความต้องการของผู้นำเข้า ประกอบกับระยะเวลาการขนส่งจากไทยไปญี่ปุ่น (เพียง 10-14 วัน) น้อยกว่าจากบราซิลไปญี่ปุ่น (ประมาณ 8 สัปดาห์) เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่น่าจะเอื้อให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นสามารถบริหารจัดการสต็อกและคาดการณ์ราคาได้ดีกว่า

ทั้งนี้ ไทยเคยเป็นแหล่งนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ในปี 2546 ก่อนจะสูญเสียตลาดให้กับบราซิล เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก

ขณะที่ตลาดอียู (ตลาดนำเข้าไก่อันดับสามของโลก และมีความต้องการนำเข้าไก่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) อียูน่าจะหันมานำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยมากขึ้นโดยใช้สิทธิประโยชน์จากโควตาการส่งออกที่ไทยได้รับ (92,610 ตันต่อปี โดยเสียภาษีร้อยละ 15.4) ขณะที่ปัจจุบันอียูนำเข้าจากบราซิลเป็นหลัก ซึ่งปริมาณการนำเข้าจากบราซิลได้เกินโควตา (170,807 ตันต่อปี) แล้ว ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยภาษีนอกโควตาสำหรับไก่สดอยู่ที่ตันละ 1,300 ยูโร

อนึ่ง ก่อนปัญหาไข้หวัดนก อียูเคยนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ในปี 2546

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นท้าทายเกี่ยวกับความกดดันจากภาวะต้นทุนวัตถุดิบ (กากถั่วเหลือง) ที่ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง และราคามักจะผันผวนตามตลาดโลก

อีกทั้งต้นทุนค่าแรงและค่าสาธารณูปโภค ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น รวมทั้งประเด็นการขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนี้ การทำตลาดหรือการดึงส่วนแบ่งตลาดกลับมาจากคู่แข่งหลักอย่างบราซิล อาจเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า (แม้ค่าเงินของบราซิลจะแข็งค่าในอัตราที่มากกว่าเงินบาทในปี 2556 แต่เงินรีลบราซิลขณะนี้ก็ยังเป็นระดับที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับในปี 2555 ประกอบกับเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักอย่างญี่ปุ่นและอียูยังอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง

แม้ปัจจุบันการเลี้ยงไก่และการผลิตของไทยจะเป็นระบบปิด แต่ทุกฝ่ายคงต้องเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

ทั้งนี้ จากการที่ที่ผู้ส่งออกไก่ไทยยังคงต้องเผชิญกับประเด็นท้าทายจากสภาวะต้นทุนที่กระทบความสามารถทางการแข่งขัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นอกเหนือจากความพยายามในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้ประกอบการส่งออกไก่ไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้นำเข้าได้อย่างตรงจุดและหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าไก่ของไทยมีมูลค่าเพิ่มและสามารถฉีกหนีการแข่งขันด้านราคาจากคู่แข่ง

รวมถึง การแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ และรัสเซีย ที่มีแนวโน้มเพิ่มความต้องการนำเข้าสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยมากขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนตลาดอาหารฮาลาล ซึ่งมีการประเมินว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรมุสลิมซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรโลกในปี 2563 รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่าอาหารฮาลาลเป็นอาหารที่มีความสะอาดและปลอดภัย แม้ผู้บริโภคเหล่านั้นจะไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม

และการอาศัยประโยชน์จากการเปิดเสรี AEC ในการขยายตลาด การเป็นแหล่งวัตถุดิบนำเข้า และการขยายการลงทุน โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจะมีการปรับลดอัตราภาษีลงเป็นร้อยละ 0 สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ในปี 2558 ขณะที่ เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี และมีความต้องการบริโภคอาหารหรือสินค้าไทยที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายกับทุกกลุ่มลูกค้า

นอกจากนี้ ก็ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ แนวคิดการจัดตั้งกองทุนปศุสัตว์เพื่อดูแลความเคลื่อนไหวของราคาอาหารเลี้ยงสัตว์ และความคืบหน้าของการจัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร เพราะอาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจส่งออกไก่เนื้อได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ