วิจัยกสิกรฯ ชี้ค่าบาทแข็งแรง-เร็ว จับตาผลกระทบภาพรวมศก.ไทย-การส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2013 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเงินบาทนับจากต้นปี 56 เป็นไปในจังหวะที่ค่อนข้างรวดเร็ว และเป็นทิศทางที่แตกต่างไปจากหลายสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 29.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 20 มี.ค.56) ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 5% จากระดับปลายปี 55 ตอกย้ำภาพการแข็งค่าที่ฉีกตัวทิ้งห่างทุกสกุลเงินในเอเชีย

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของเศรษฐกิจไทยต่อสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทที่ค่อนข้างรวดเร็วและแตกต่างไปจากสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าค่าเฉลี่ยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1.0% อาจมีผลกระทบราว 0.1-0.3% ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 56

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อดี-ข้อเสียของทางเลือกและเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลการเคลื่อนไหวเงินบาท เช่น 1.การลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศ ข้อดี คือ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ลดลง อาจลดแรงจูงใจในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ นอกจากนี้ต้นทุนในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของ ธปท.ออกจากระบบเศรษฐกิจลดลง

แต่ข้อเสีย คือ ไม่สามารถรับประกันได้อย่างเด็ดขาดว่า จะสามารถชะลอหรือยุติกระแสการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอาจเพิ่มความร้อนแรงของตลาดสินเชื่อภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นการเปิดประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินของประเทศในระยะข้างหน้า

2.การแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ(ธปท.เข้าซื้อเงินดอลลาร์ฯ) ข้อดี คือ ช่วยชะลอทิศทางการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้เป็นระยะ, ลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาในการปรับตัว และผู้เล่นในตลาดที่มีธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ฯ อาจเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการเก็งกำไรจากการแข็งค่าของเงินบาท

แต่ข้อเสีย คือ อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทได้ ขณะที่ผลต่อตลาด/ค่าเงินอาจจะมีจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางประเทศชั้นนำของโลกยังคงจุดยืนผ่อนคลายทางการเงิน และปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ, สถานะของงบดุล ธปท.ที่บันทึกยอดขาดทุนในส่วนนี้ต่อเนื่อง

3.มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน เช่น มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น มาตรการภาษีที่เก็บจากกำไร-ดอกผลจากการลงทุน หรือมาตรการภาษีเงินทุนขาออก ข้อดี คือ มีผลโดยตรงต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน, ลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ข้อเสีย คือ บิดเบือนกลไกตลาด และเป็นการยากที่จะกำหนดระดับความเข้มงวดในการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผลทางจิตวิทยา

4.ปล่อยตามกลไกตลาด ข้อดี คือ เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ซึ่งอาจช่วยเร่งให้การ Correction ของตลาดการเงินไทยเกิดขึ้นและสิ้นสุดเร็วขึ้น, ธปท.ไม่มีภาระต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซง และการดูแลระดับสภาพคล่อง แต่ข้อเสีย คือ ความผันผวนสูงในตลาดการเงิน, เงินบาทที่แกว่งตัวมากอาจสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออกของไทยที่เผชิญกับโจทย์การแข่งขัน และการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของความต้องการจากต่างประเทศ นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยขาดแรงขับเคลื่อน และอาจชะลอตัวกว่าที่ตัวเลขที่ประมาณการไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า คงต้องติดตามผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจมีความต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะยิ่งระดับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีต่อเศรษฐกิจไทยก็อาจขยายวงกว้างมากขึ้นตามไปด้วยเพราะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ยังคงพึ่งพาฐานการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำสมมติฐานค่าเงินบาทที่จะมีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) และการส่งออกของไทยในปีนี้ โดยหากค่าเฉลี่ยเงินบาทอยู่ที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นไปตามกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะทำให้ GDP ปีนี้โต 4.3-5.3% การส่งออกโต 8-13%

แต่หากค่าเฉลี่ยเงินบาทอยู่ที่ 28.90 บาท/ดอลลาร์ฯ คาดว่า GDP ปีนี้จะโตได้ 4.2% และการส่งออกจะโตได้ 6.5% และสุดท้ายหากค่าเฉลี่ยเงินบาทอยู่ที่ 27.90 บาท/ดอลลาร์ฯ คาดว่า GDP ปีนี้จะโตได้ 3% และการส่งออกโต 2.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ