ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อหากบาทไม่แข็งค่าหลุด 29.50 ส่งออกปีนี้ยังโตได้ 8-13%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 28, 2013 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจากที่ตัวเลขส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือน ก.พ.56 กลับมาหดตัวลงร้อยละ 5.83 และร้อยละ 1.19 ตามลำดับ แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนวันทำการที่น้อยกว่าในเดือนอื่นๆ และผลของฐานเปรียบเทียบในปี 55 ที่เป็นช่วงที่เร่งฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนแรงกดดันที่ส่งผ่านมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท

โดยเมื่อมองต่อไปในเดือนมี.ค.56 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ จีน ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยหนุนให้การส่งออกของไทยในไตรมาส 1/56 ยังสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวไว้ได้ แต่คงต้องติดตามทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อของผู้ส่งออกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

"หากค่าเฉลี่ยเงินบาทในปีนี้ยังคงใกล้เคียง 29.50 บาท/ดอลลาร์ฯ การส่งออกของไทยก็น่าจะสามารถประคองอัตราการเติบโตไว้ได้ในกรอบ 8-13% แต่ต้องติดตามผลกระทบของทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทที่มีต่อเส้นทางการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร รวมไปถึงสินค้าที่พึ่งพาแรงงานอย่างเข้นข้น (Labor Intensive Industries) ซึ่งมีปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกประเภทอื่นๆ" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้การส่งออกของไทยน่าจะมีสัญญาณการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี 56 แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ทิศทางค่าเงินบาท เนื่องจากอาจเป็นข้อจำกัดหนึ่งของการฟื้นตัวในภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของผลกระทบที่มีต่อสินค้าส่งออกแต่ละประเภทก็อาจมีระดับที่แตกต่างกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ากลุ่มสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศในระดับต่ำ น่าจะถูกกระทบจากภาวะการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบในราคาที่ต่ำลงตามทิศทางค่าเงิน นอกจากนี้ หากเป็นสินค้าที่มีปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาอยู่ก่อนแล้ว (จากภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี) การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจซ้ำเติมให้สินค้าดังกล่าวเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก

สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรเป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่มักพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) ในสัดส่วนสูง ประกอบกับสภาพการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก จึงทำให้มีโอกาสสูงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและส่วนแบ่งตลาดให้แก่ประเทศคู่แข่งหากเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น

สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าว ซึ่งแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาไทยยังสามารถครองตลาดส่งออกข้าวคุณภาพสูง (ข้าวหอมมะลิ) เอาไว้ได้ แต่ราคาเฉลี่ยของข้าวในตลาดระดับกลางที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม ก็ทำให้มูลค่าส่งออกข้าวในช่วงที่ผ่านมามีภาพรวมที่ไม่สดใสนัก หากเงินบาทยังคงมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจทำให้ข้าวไทยสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นเช่นกัน

และเมื่อประกอบกับแนวโน้มการชะลอการส่งออกไปยังบางตลาดในแถบแอฟริกาในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยได้ ดังนั้น คงต้องฝากความหวังไว้ที่การเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government: G to G) ของรัฐบาล ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาก็จะช่วยลดทอนผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกข้าวในภาพรวมลงได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรบางประเภท ที่แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินบาทแข็งค่า แต่ก็น่าจะสามารถเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากทิศทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง รวมทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ที่มีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูงในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งไม่ได้รับประโยชน์ในการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและมีรายรับในรูปเงินบาทที่ลดลงจากภาวะเงินบาทแข็งค่า ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ราคาสินค้าของไทยแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ ก็อาจทำให้ทิศทางการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ย่ำแย่ลงอีกในระยะต่อไป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มรองเท้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงเครื่องหนังและเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ