อนุฯ ชง กบง.ขยายเวลาตรึงราคา LPG ออกไปอีก 2 เดือน จากสิ้นสุด มี.ค.56

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 28, 2013 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ภาคครัวเรือน มีมติให้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) วันพรุ่งนี้(29 มี.ค.)ให้พิจารณาขยายเวลาการตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือนในอัตรากิโลกรัมละ 18.13 บาทออกไปก่อน จากเดิมที่จะสิ้นสุดกำหนดเวลาตรึงราคา LPG ในสิ้นเดือน มี.ค.นี้

เนื่องจากการสำรวจผู้ใช้ LPG ในส่วนครัวเรือนและร้านค้ารายย่อย หาบเร่แผงลอยทั่วประเทศ ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจะแล้วเสร็จในกลางเดือน เม.ย.นี้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถหาข้อสรุปเพื่อช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าว เพราะต้องรอผลการศึกษาเสร็จก่อน โดยคาดว่าต้องใช้เวลาศึกษาการปรับราคาอย่างน้อยอีก 2 เดือน

ส่วนแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยหลังจากทยอยปรับขึ้นราคา LPG นั้น เบื้องต้นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้ศึกษาแนวทางช่วยเหลือโดยจะนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนในรูปแบบการไม่ปรับราคาสำหรับครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ในอัตราเดือนละไม่เกิน 6 กิโลกรัม และอุดหนุนร้านค้าหาบเร่แผงลอยอาหารในอัตราการใช้ก๊าซตามจริงแต่ไม่เกิน 150 กิโลกรัมต่อเดือน

รายงานข่าว แจ้งว่า คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอให้ กบง.พิจารณาวิธีการปรับขึ้นราคา และหาแนวทางชดเชยราคา LPG เบื้องต้นอาจใช้วิธีทยอยปรับขึ้นราคาทุกเดือน ครั้งละ 95 สต.ถึง 1 บาทต่อกิโลกรัม หรือปรับขึ้น 2 บาท ทุก 2 เดือน เพื่อให้ราคาเพิ่มจากกิโลกรัมละ 18.13 บาทเป็น 24.84 บาท ภายในปีนี้

ส่วนวิธีการชดเชยราคา LPG ภาคครัวเรือนสำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้น ล่าสุดคาดว่าจะไม่สามารถชดเชยผ่านบัญชีผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากจะเกิดความยุ่งยาก ต้องรื้อระบบบัญชีการคิดเงิน และการจ่ายเงินของหน่วยงานด้านการไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังต้องโดนหักภาษีเพิ่มอีก ดังนั้นจะเสนอแนวทางชดเชยที่ดีที่สุดน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา คือ ให้ประชาชนเปิดบัญชีใหม่เพื่อรับเงินสด และอาจจะโอนเงินเป็นรายไตรมาส หรือปีละ 1-2 ครั้ง แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กบง. อีกครั้ง

ส่วนการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยประชาชนนั้น กระทรวงพลังงานต้องเสนอเรื่องให้คณะกฤษฏีกาตีความก่อน ว่าสามารถนำไปจ่ายชดเชยให้ประชาชนโดยตรงได้หรือไม่ เพื่อป้องกันการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ โดยจะเสนอเรื่องให้พิจารณาสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตามหากผลสรุปออกมาว่าไม่สามารถนำเงินกองทุนฯ ไปใช้ได้ จะพิจารณาหาแหล่งเงินอื่นๆ มาดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ