ญี่ปุ่นหนุนไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ-การลงทุนเมื่อก้าวเข้าสู่ AEC ในปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 28, 2013 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ญี่ปุ่นประกาศสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการลงทุนในภูมิภาค พร้อมร่วมลงทุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) คาดยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่จะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้

ทั้งนี้ BOI ร่วมกับนิตยสารนิเคอิ บิสสิเนสของประเทศญี่ปุ่น จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ"Thailand Unparalleled Opportunities" เพื่อเรียกความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมรับฟังการสัมมนา 300 คน ในจำนวนนี้เป็นนักลงทุน ที่บินตรงมาร่วมงานจากญี่ปุ่น 100 ราย

นายชิเกะคาซึ ซาโต เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นยังคงให้ความสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยที่ต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของ AEC ในปี 58 โดยประเทศญี่ปุ่นมองว่าไทยสามารถเป็นฐานการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงความร่วมมือกับไทยและเมียร์ม่าร์ในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งญี่ปุ่นยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มความสามารถ

ด้านนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นักลงทุนประเทศญี่ปุ่นยังคงมีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเวทีสัมมนาครั้งนี้รัฐบาลต้องการชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจญี่ปุ่นโดยตรงต่อทิศทางการปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของ BOI รวมถึงบทบาทและศักยภาพของไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยปีนี้ BOI ตั้งเป้าหมายจะมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 600,000 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ

ขณะที่นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ BOI กล่าวว่า การปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่จะเสร็จภายในกลางปีนี้ โดยจะเน้นสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า เนื่องจากเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว และสามารถที่จะเป็นฐานการผลิตให้กับไทยได้ และนักลงทุนญี่ปุ่นยืนยันว่า ไม่ติดใจเรื่องการลดสิทธิประโยชน์การลงทุน แต่ต้องการความชัดเจนเรื่องเขตการลงทุนจากปัจจุบันแยกเป็น 3 เขต

ส่วนนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) กล่าวว่า จากการพบปะและหารือกับนักลงทุนประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่สนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยจะต้องสร้างยุทธศาสตร์ให้มีความชัดเจน ขณะที่มาตรการทางภาษีก็จะต้องเอื้ออำนวยต่อนักลงทุน และการที่รัฐบาลปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลลงมาจาก 30% เหลือ 23% และจะเหลือ 20% ก็เป็นแรงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ