TMB Analytics มองบาทแข็งไม่รุนแรงส่งผล กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2013 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะมีมติคงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.75 ในการประชุมวันพุธนี้ เนื่องจากประเมินว่าทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการประชุมครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง ผลกระทบโดยแท้จริงจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทต่อผู้ส่งออกไทยอาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล

ขณะที่ประเมินว่าผลกระทบจากบาทแข็งต่อเศรษฐกิจและส่งออกอาจไม่รุนแรงอย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาด ทั้งภาคส่งออกสินค้าและท่องเที่ยว จากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ยังพบอีกว่า โดยภาพรวมเกือบร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกสินค้า มีการนำเข้าวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป มาจากต่างประเทศเพื่อมาดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน

ข้อมูลดังกล่าวเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วผู้ส่งออกไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบด้านลบทั้งหมดจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แต่ก็ได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ถูกลงด้วยเช่นกัน ซึ่งเสมือนกับว่าผู้ส่งออกได้มีการทำประกันความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยธรรมชาติ (Natural hedge) บางส่วนไปโดยปริยาย ซึ่งมากน้อยอยู่ที่สัดส่วนการนำเข้าต่อการส่งออกของแต่ละผู้ประกอบการ

ในขณะที่ตัวเลขภาคการท่องเที่ยว ยังไม่สะท้อนถึงความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยในเดือนกุมภาพันธ์ยังขยายตัวถึงร้อยละ 25 และเป็นการเปิดปีด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นแท่น ทำสถิติเป็นอันดับสองเกือบ 2.4 ล้านคน เหตุผลหนึ่งคือ โครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และมีการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากอาเซียนและเอเซียกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ค่าเงินแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศก็จะได้รับผลดีจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน ทางภาคครัวเรือนอาจมีการเร่งตัวขึ้นในส่วนของการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ในขณะที่ทางภาคธุรกิจก็จะได้รับผลดีจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงด้วย นอกจากนี้ ภาคเอกชนและภาครัฐบาล ที่มีภาระหนี้อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าวในการลดภาระต้นทุนทางการเงินลงได้จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินในประเทศ

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ราบรื่นมากนัก รวมไปถึงแนวโน้มที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าโดยเฉลี่ยกว่าปีที่ผ่านมา นับว่ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ผู้ประกอบการส่งออกยังคงต้องเผชิญอยู่ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ดังนั้น การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกอันดับต้นที่น่าสนใจ รวมทั้งการปรับกระแสเงินสด รับ/จ่าย ของเงินตราต่างประเทศให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อจำกัดความเสี่ยงดังกล่าวในการปกป้องรายได้และผลกำไรของธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ