(เพิ่มเติม1) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมี.ค. 84.8 จาก 84.0 ในก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 4, 2013 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.56 ว่า อยู่ที่ระดับ 84.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 84.0 โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 85 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.49

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 75.0 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 76.4 และดัชนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 102.9

สำหรับปัจจัยบวกในเดือนมี.ค.ที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวลดลง, SET Index เดือนมี.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.48 จุด, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น, ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านลบ.ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ วาระแรก และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาท/วัน

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยในก.พ.56 ลดลง 5.8% และมียอดขาดดุลการค้า 1.5 พันล้านดอลลาร์, ความกังวลจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรป, ความกังวลต่อวิกฤติพลังงานไฟฟ้าในช่วงวันที่ 5-14 เม.ย., ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว, ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอนาคต รวมทั้งความกังวลปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในรอบ 7 ปี หรือ 85 เดือน ตั้งแต่ปี 49 ซึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ความโดดเด่นของเศรษฐกิจที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเคยยืนอยู่เหนือระดับ 100 ตั้งแต่ปี 47 โดยทิศทางของความเชื่อมั่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นในแง่ของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม แต่การปรับตัวส่วนใหญ่เป็นการคาดหวังในอนาคตที่คนมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการการลงทุนของภาครัฐที่จะเคลื่อนตัวให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตเกิดความโดดเด่นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมองว่าความเชื่อมั่นในอนาคตแทบทุกรายการจึงดูดีที่สุดในรอบ 9 ปี หรือ 107 เดือน ตั้งแต่ปี 48 โดยในรอบ 9 ปีนี้ คนยังมีความเชื่อมั่นในอนาคต แต่หากกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังคงเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ซึ่งจะมีการปรับตัวดีที่สุดได้ในรอบประมาณ 3 ปี หรือ 35 เดือน

ทั้งนี้สังเกตได้ว่าดัชนีแต่ละตัวเริ่มทำลายสถิติและเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่มองในภาพเศรษฐกิจเดิมโอกาสการหางานทำโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นในรอบ 6 ปี หรือ 75 เดือน ก็จะเห็นได้จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ และการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวนั้นเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความต้องการซื้อรถยนต์ที่ปรับตัวสูงกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะเดียวกันความต้องการท่องเที่ยวที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มองว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นได้

นายธนวรรธน์ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนในปัจจุบันจะขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งรายได้ของประชาชนยังปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ, นโยบายการจำนำข้าว, การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลและรอดูสถานการณเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในไซปรัส ตลอดจนค่าครองชีพที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และความผันผวนทางการเมืองไทย

ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ถ้ารัฐบาลเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงพยุงไม่ให้เศรษฐกิจไทยผันผวนตามเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญของความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 5% และการบริโภคจะขยายตัวประมาณ 4-5% เนื่องจากความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าครึ่งปีแรกนี้การท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศ และการบริโภคภายในประเทศน่าจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจโลกไม่มีปัญหาทางการเมือง ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งภาคการส่งออก การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนดีขึ้นตามมาเป็นลำดับ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ยังมีปัจจัยลบและต้องจับตาดูไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่คนยังมีความวิตกกังวล และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแนะให้รัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เข้ามาดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพ ไม่ควรที่จะให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป รวมถึงการเมืองในประเทศ ที่คนส่วนใหญ่มองว่ายังไม่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเมืองในอนาคต

"ถ้าหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก กรณีเกี่ยวกับไซปรัส เกิดมีความผันผวนก็จะมีผลต่อการส่งออก และบาทแข็งเร็วจะมีผลต่อการส่งออก ท่องเที่ยว และการเมืองที่มีความพลิกผลันกิดขึ้น ความเชื่อมั่นจะอยู่ในทิศทางขาลง มองว่าหากไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะโดดเด่นในปีนี้ ที่จะเห็นได้จากการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์" นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนผลสำรวจแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีมูลค่าการจับจ่ายสูงสุด คือ 174,000 ล้านบาท และเป็นอัตราการเติบโดสูงสุด 10.4% สูงสุดในรอบ 9 ปีซึ่งมีการจับจ่ายให้สอยเกินระดับแสนล้านเป็นปีที่ 2 และมีอัตราการเติบโตสูงมาก ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะคึกคึกเป็นอย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ