นักเศรษฐศาสตร์หนุนใช้ Capital Control เฉพาะในตลาดตราสารหนี้แก้บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 25, 2013 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ กระตุ้นแบงก์ชาติออกมาตรการ Capital Control เฉพาะตลาดพันธบัตรหากบาทแข็งค่าแตะระดับ 28.50 บาท/ดอลลาร์ เชื่อไม่ส่งผลช็อคตลาดในวงกว้าง ชี้หากปล่อยบาทแข็งค่านานต่อเนื่องหวั่นกระทบภาคการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ประเมินเงินบาทปลายปีมีโอกาสแข็งค่าสู่ระดับ 27 บาทต้นๆ

นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ(KGI) กล่าวว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังไม่ใช้แนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทจากเงินทุนไหลเข้าในขณะนี้ มองว่าอีกทางเลือกที่ดูจะเหมาะสมและใช้เป็นทางออกได้โดยไม่ส่งผลต่อตลาดในวงกว้างมากนัก คือ การทำ Capital Control เฉพาะในตลาดพันธบัตร เนื่องจากขณะนี้มีเงินทุนไหลเข้ามามากในตลาดพันธบัตร ซึ่ง ธปท.อาจจะมีเงื่อนไขในการกำหนดระยะเวลาการถือครองพันธบัตร โดยมองว่าแนวทางนี้น่าจะทำได้โดยไม่ช็อคตลาดในภาพรวมเท่าใดนัก

"เนื้อหารายละเอียดของมาตรการจะเป็นอย่างไรนั้นอีกเรื่อง แต่จะช็อคตลาดหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการที่แบงก์ชาติเลือกช่วงเวลาที่จะประกาศด้วย ในการปฏิบัติที่ดีต้องทำหลังตลาดหุ้นปิด จากนั้นค่อยแถลงให้เคลียร์ว่าเลือกใช้มาตรการนี้เฉพาะตลาดพันธบัตรเท่านั้น จะไม่ขยายไปยังตลาดหุ้น แต่ก็อาจจะมี Side Effect กับตลาดหุ้นบ้างเมื่อตลาดเปิดในวันรุ่งขึ้น แต่คงไม่มาก" นายปรากรม กล่าว

ทั้งนี้ มาตรการ Capital Control มีหลายระดับมาก ตั้งแต่การใช้ Holding Period หรือระดับหนักสุดคือบล็อคไม่ให้เข้า ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น หรือการจัดเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย เพียงแต่มาตรการภาษีจะต้องเป็นการตัดสินใจจากฝ่ายรัฐบาล แต่เชื่อว่าแนวทางนี้รัฐบาลคงจะไม่เลือกใช้เพราะค่อนข้างเสี่ยงกับการทำให้เกิดมุมมองในภาพลบของนักลงทุนที่มีต่อรัฐบาลเอง

นายปรากรม มองว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ ธปท.ควรต้องออกมาดำเนินการในการดูแลค่าเงินบาท ซึ่งในความเป็นจริงควรต้องออกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ที่เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 29 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี หากจะตัดสินใจดำเนินการมองว่ายังไม่สายเกินไป เพราะเชื่อว่าการตัดสินใจจะประกาศมาตรการใดมาตรการหนึ่งออกมานั้น ธปท.จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบคอบในทุกมิติ เพราะแบงก์ชาติย่อมมีข้อมูลอยู่ในมือมากกว่า และหากตัดสินใจผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ

"แบงก์ชาติเห็นอะไรที่มากกว่าคนนอกเห็น และดีกว่าทุกคน ทั้งเกี่ยวกับ Flow ของประเทศ หรือ Position ทางการเงินของประเทศ ดังนั้นการจะออกมาทำอะไรสักอย่าง แบงก์ชาติต้องคิดมากกว่าคนอื่น เพราะการคิดน้อยจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ ซึ่งการคิดมากอาจทำให้แบงก์ชาติขยับได้ไม่เร็วนัก บางครั้งการทำอะไรเร็วไปอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แบงก์ชาติของหลายประเทศทั่วโลกจึงจะไม่มี react อะไรที่เร็วจนเกินไป" นายปรากรม ระบุ

ทั้งนี้ เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว ธปท.จะไม่ออกมาตรการอะไรที่รุนแรงเพื่อมาดูแลค่าเงินบาท เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความปั่นป่วนต่อทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ดังเช่นในสมัยของนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท.ในขณะนั้นที่ได้ออกมาตรการ 30% ซึ่งแม้จะเป็นยาแรงที่ได้ผล แต่ก็เกิดผลข้างเคียงต่อตลาดหุ้นค่อนข้างแรงในช่วงนั้น ดังนั้น จากประสบการณ์ในเรื่องนี้จึงทำให้ ธปท.ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการออกมาตรการที่จะมีผลในวงกว้าง โดยต้องเลือกมาตรการที่ได้ผลลัพธ์ตรงจุดและตรงประเด็นมากที่สุด

"ถ้ามาตรการไม่แรง บาทก็มีโอกาสไป test ที่ 27 บาทต้นๆ ได้ในช่วงปลายปีนี้...ถ้าเงินบาทแตะ 28.50 บาท แบงก์ชาติก็ควรพิจารณาออกมาตรการใดมาตรการหนึ่งได้แล้ว แต่ 1-2 วันที่ผ่านมาบาทก็อ่อนค่าลงไปน่าจะเป็นทางเทคนิคมากกว่า เพราะเร็วๆ นี้จะมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล เดี๋ยว Flow ก็คงเข้ามาอีก" นายปรากรม กล่าว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องนั้น เชื่อว่าแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะเลือกใช้เป็นแนวทางหลักแทนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะเป็นการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นหลัก โดยขั้นแรกน่าจะเป็นการเข้าไปดูแลด้วยวาจาจากนายกรัฐมนตรี เพราะภาครัฐได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าให้ทุกหน่วยงานร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา

"การให้ข้อมูลข่าวสารควรไปในทางเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วด้วยวาจา หลังจากมีแนวทางในการดูแลค่าเงินบาทโดยนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าก็จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ คงจะพูดในเสียงเดียวกันได้ เพื่อให้การดูแลค่าเงินมีประสิทธิภาพ" นายธนวรรธน์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

ขั้นตอนที่สองควรใช้วิธีดูแลค่าเงินบาทโดยการเข้าไปซื้อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่า ธปท.อาจจะดำเนินการอยู่ และขั้นตอนที่สามคงต้องเป็นการศึกษาร่วมกันว่าหลังจากมีสัญญาณของเงินทุนไหลเข้าที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านั้น การแข็งค่าดังกล่าวมีสาเหตุที่แท้จริงจากอะไร เช่น สาเหตุจากค่าเงินในตลาดต่างประเทศที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าตาม หรือเป็นเพราะสาเหตุที่มีนักลงทุนต่างชาติต้องการนำเงินเข้ามาลงทุนจริงๆ หรือการนำเงินเข้ามาลงทุนเพื่อหวังผลกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทุกหน่วยงานต้องพิจารณาร่วมกันว่ามีความเป็นจริงหรือไม่ เพราะประเทศอินโดนีเซียเองขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.75% และมีการลงทุนที่เป็น FDI ขยายตัวถึง 20% ทำให้เงินทุนที่ไหลเข้าอินโดนีเซียจึงค่อนข้างสูงเกือบ 2 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 1 แต่ขณะเดียวกันอินโดนีเซียกลับสามารถบริหารค่าเงินไม่ให้แข็งค่าได้

"ฉะนั้นธปท. และทุกหน่วยงานต้องร่วมกันพิจารณาว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้จริงหรือไม่ และการที่เงินบาทแข็งค่านี้ มีนักลงทุนเข้ามาหาส่วนต่างในอัตราดอกเบี้ยจริงหรือไม่ หากมีการหาคำตอบร่วมกันแล้วผลออกมาใช่ ข้อมูลเหล่านั้นจะได้นำเสนอต่อ กนง. และอาจจะทำให้ธปท.มีข้อมูลพิจารณาในเรื่องดอกเบี้ยกับเรื่องค่าเงินได้มากขึ้น" นายธนวรรธน์ ระบุ

นอกจากนี้ หากเห็นว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาเพื่อเก็งกำไรนั้น อาจจะต้องดูแลในเรื่องของการสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไร เช่น เงินบาทแข็งค่า 5% วิธีการเก็บภาษีของการลงทุนในระยะสั้น 3-6 เดือน อาจจะเก็บภาษีขาออก 5-10% ตามอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนต่างของค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง และนักลงทุนก็จะมาลงทุนด้วยดอกเบี้ยจริงๆ

รวมถึงหากมีการกำหนดมาตราการเหล่านี้อาจจะต้องเก็บทั้งภาษีขาเข้าและขาออก ซึ่งการเก็บภาษีขาเข้าอาจจะทำให้นักลงทุนมีเงินน้อยลง แต่ถ้าเก็บขาออกก็ยังสามารถทำกำไรได้ ฉะนั้นมองว่าการเก็บภาษีขาออกน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า คาดว่ารัฐบาลน่าจะเลือกวิธีนี้ในเชิง Capital Control หลังจากนั้นจึงค่อยพิจารณาว่าจะเรียกเก็บจากตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือเก็บจากทั้ง 2 อย่าง ซึ่งกระทรวงการคลังและธปท.จะมีข้อมูลในเรื่องของเงินที่เข้ามาเก็งกำไรหรือเข้ามาในระยะสั้นจริงหรือไม่ หรือเข้ามาในตลาดตราสารหนี้หรือตราสารทุนมากน้อยเพียงใด

"มองว่าขั้นตอนน่าจะเป็นขั้นตอนของ 3 ตัวหลักๆ คือ 1.แทรกแซงด้วยวาจา 2.แทรกแซงด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์ 3.แทรกแซงด้วยการควบคุมการเข้า-ออกของเงิน โดยใช้มาตราการ Capital Control เก็บภาษี แต่สิ่งที่ควรทำคือ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรจะลดอุปสรรคในการส่งออก เช่น ในเรื่องของเอกสาร ขั้นตอนในการส่งออกควรทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว จะได้มีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันควรมีการเจรจากับธนาคารให้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการเปิด LC หรือทำ Forward Option" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่าสิ่งที่สำคัญในการหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินบาทเป็นสิ่งที่ควรจะดำเนินการทันที เนื่องจากภาคส่งออกอาจมีปัญหาหรือชะลอตัวลงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประทศ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ใช้แรงงานที่มีการเกี่ยวพันกับสินค้าส่งออก เช่น สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร สิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

"มาตรการควรจะต้องดำเนินการทันที ซึ่ง ธปท.ก็บอกว่า Capital Control จะเป็นมาตรการสุดท้าย เนื่องจากนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่น แต่การใช้ Capital Control ควรส่งสัญญาณที่ดีและส่งข้อมูลที่ถูกต้องว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามีความผิดปกติจริงๆ และการเก็บภาษีก็ต้องเป็นการเก็บที่มาจากส่วนต่างของค่าเงินบาทที่แข็งค่า เพื่อสกัดกั้นไม่ให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในส่วนต่างของค่าเงินบาท" นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อทางการได้ส่งสัญญาณที่ถูกต้อง มีการกำหนดอัตราภาษีในระดับเหมาะสมที่ไม่ช็อคตลาด และไม่เหมือน 4-5 ปีที่ผ่านที่นักลงทุนไม่รู้ว่าจะมีการเก็บและเก็บในอัตราสูง จึงมีความสับสนอยู่บ้างในเรื่องข้อมูลว่าไทยจะสกัดกั้นการค้าเสรีหรือการลงทุนเสรีหรือไม่ มองว่าต้องค่อยๆ ส่งสัญญาณออกไป และเก็บในอัตราที่เหมาะสมที่ถูกช่องทางจริงๆ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุน เนื่องจากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาวยังคงเติบโตได้ดี

นายธนวรรธน์ เชื่อว่าหากมีการดำเนินมาตราดังกล่าวที่เหมาะสม จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น หากตลาดมีความเข้าใจดีดัชนีหุ้นก็อาจจะย่อลงมาในระยะสั้นๆ และรอดูทิศทาง แต่หากไม่มีการสกัดกั้นการเข้าซื้อหุ้น เงินทุนก็ยังคงไหลออกเป็นปกติ และยังได้กำไรจากการค้าขายหุ้นปกติอีกด้วย เพียงแต่ว่ารัฐบาลเลือกเก็บเฉพาะในส่วนที่มีการเข้ามาเก็งกำไร ซึ่งมองว่ามีเหตุผลชอบธรรม ถ้าจะให้มีกำไรจากหุ้นล้วนๆ โดยไม่มีกำไรจากค่าเงินเข้าไปผสม เช่น กำไรจากหุ้น 10% กำไรจากค่าเงิน 5% ก็ดึงกำไรจาก 5% ออก นักลงทุนก็จะได้กำไรจากการลงทุนในหุ้นจริงๆ ซึ่งจะได้นักลงทุนที่ลงทุนจริงในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดตราสารหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ