(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.ที่ 83.7 จากมี.ค.ที่ 84.8

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 2, 2013 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเดือน เม.ย.56 อยู่ที่ 83.7 ลดลงจาก 84.8 ในเดือน มี.ค.56 ซึ่งเป็นปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 75.0 ลดลงจาก 73.9 ในเดือน มี.ค.56 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 76.4 ลดลงจาก 75.5 ในเดือน มี.ค.56 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 101.8 ลดลงจาก 102.9 ในเดือน มี.ค.56

"ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการ และเป็นการปรับตัวลดลงในรอบ 7 เดือน"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าว

ปัจจัยบวกที่มีผลต่อค่าดัชนี ได้แก่ ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง, ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 56 เป็นเติบโต 5.1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4.9% และคาดว่าปี 57 จะเติบโต 5% จากเดิม 4.8%, กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.75% และเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วที่อาจจะกระทบกับการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม, ความกังวลความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์ทางการเมือง, ราคาพืชผลเกษตร เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของยุโรป

ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า การบริโภคของประชาชนในปัจจุบันยังมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในและนอกประเทศ ตลอดจนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน นโยบายรับจำนำข้าว การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความกังวลและรอดูผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลังเกิดวิกฤตการทางการเงินในไซปรัส การแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า ค่าครองชีพทรงตัวในระดับสูง และสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากภาครัฐใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่พยุงภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนตามเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ