(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ระบุอัตราดอกเบี้ยมีภาระหนักต้องดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 9, 2013 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงข้อเสนอแนะให้ใช้แนวทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าว่า แม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยมีภาระหนักที่จะต้องดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจในประเทศ และถือเป็นความยากลำบากของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ต้องพยายามรักษาดุลยภาพดังกล่าว
"ถือเป็นความยากลำบากที่ กนง.ต้องพยายามรักษาดุลยภาพในประเทศ...เงินทุนเคลื่อนย้ายต้องดูหลายปัจจัย ซึ่งดอกเบี้ยก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน แต่มองว่าเรื่องการเข้ามาเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนคิดเป็นเปอร์เช็นต์จะสูงกว่าเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อปีที่ต่ำกว่า"นายประสาร กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจสูงเกิน 5% ขึ้นไป อย่างเช่นไทย, กลุ่มที่ 2 เศรษฐกิจไม่เติบโตหรือติดลบ คือสหภาพยุโรป(อียู) และกลุ่มที่ 3 เศรษฐกิจเติบโตในระดับ 1-2% คือสหรัฐฯ จึงเป็น 3 กลุ่มที่มีดุลยภาพต่างกัน ซึ่งประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงกับไทย ก็เป็นประเทศที่มีดุลยภาพดี เศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ยุโรปกับสหรัฐยังซบเซา เศรษฐกิจอ่อนแอ ทำให้เกิดความลักลั่น
"เป็นปัญหาที่เราถกเถียงกันอยู่ว่าจะใช้มาตรการดอกเบี้ยต้องดูให้เหมาะสมว่าจะผ่อนปรนได้แค่ไหน ถ้าเศรษฐกิจโน้มไปในแนวทางที่เป็นปกติ ไม่โตสูง ไม่ร้อนแรงก็เหมือนช่วยผ่อนภาระเศรษฐกิจไทย"นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้ถือว่าเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งธปท.ก็ยังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ไม่อยากพูดว่ามีการเข้าไปแทรกแซงตลาดหรือไม่ เพราะในตลาดเงินมีทั้งกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ค่อนข้างมากจากการเคลื่อนไหวของค่าเงิน

สำหรับการเสนอ 4 มาตรการดูแลค่าเงินบาทให้กระทรวงการคลังรับทราบนั้น นายประสาร กล่าวว่า เนื่องจากธปท.เห็นว่าเครื่องมือที่จะเตรียมไว้นำมาใช้เมื่อจำเป็นควรจะมีมากพอ เพราะแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องเลือกใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม และต้องใช้ผสมผสานกันไป ซึ่งทั้ง 4 มาตรการที่นำเสนอไปก็เป็นเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว โดยได้รายงานข้อมูลต่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังถึงผลกระทบและผลเสียในการใช้มาตรการต่าง ๆ

"สถานการณ์ตลาดเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถ้ามีอะไรที่ต้องใช้มาตรการ ก็ควรมีเตรียมไว้ให้มากหน่อยก็ดี...ต้องมีหลายเครื่องมือ ซึ่งเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนที่ผมพูดว่าบาทเกินพื้นฐาน ก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่ง ขณะนี้ถ้ามีเครื่องมือให้เลือกก็ต้องเลือกผสมผสานใช้

นายประสาร ยอมรับว่า มาตรการที่กำหนดให้นักลงทุนที่นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จะเป็นมาตรการที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อผู้ที่จะเข้ามาเก็งกำไร ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องใช้มาตรการที่มีความเข้มข้นในระดับดังกล่าวเพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้า การจะนำมาตรการใดมาใช้ต้องขึ้นกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น โดยตอนนี้คงต้องติดตามสถานการณ์ก่อน เพราะปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ