ธปท.เผย Q1/56 สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โตต่อเนื่อง แต่ชะลอลงจาก Q1/55

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 9, 2013 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโสกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/56 ระบบธนาคารมีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงที่ 13.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง

ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/56 ขยายตัวจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภคและการลงทุน ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน สินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 69.9 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 10.4 ชะลอลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากการที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้และตราสารทุนมากขึ้น ในขณะที่สินเชื่อ SME (สัดส่วนร้อยละ 36.7 ของสินเชื่อธุรกิจ) ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 16.2

ภาคธุรกิจที่สินเชื่อยังขยายเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคการพาณิชย์ อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วนร้อยละ 30.1 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 20.0 ชะลอลงเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน โดยสินเชื่อรถยนตข์ ยายตัวสูงจากผลของมาตรการรถคันแรกที่ยังทยอย ส่งมอบในไตรมาสนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านและห้องชุด ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค

คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loan:NPL)มียอดคงค้าง 256.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ในขณะที่สัดส่วน Gross NPL และ Net NPL ต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.2 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ

สำหรับสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan:SM) มียอดคงค้าง 251.2 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อรถยนต์ สัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.1 ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ได้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมรองรับเศรษฐกิจที่อาจผันผวน และกระทบคุณภาพ ลูกหนี้ สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนเป็นร้อยละ 158.9

"สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากสัดส่วนสินเชื่อรวมมีขนาดใหญ่ขึ้น...ในจำนวนนี้เป็นเอ็นพีเอลของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.32 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.5% จากไตรมาส 4/55 อยู่ที่ 1.15 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.4% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 1.7 พันล้านบาท"นายอานุภาพ กล่าว

ส่วนความร้อนแรงของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่กังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่นั้น ธปท.ยังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง เพราะการขยายตัวค่อนข้างมากเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อสถาบันการเงินที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัว แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวดี ธนาคารพาณิชย์สามารถระดมเงินฝากเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและเงินกู้ยืมอยู่ที่ร้อยละ 88.1

ไตรมาสนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแม้ว่าสินเชื่อยังขยายตัวดี แต่จากการแข่งขันสูงในตลาดสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงเหลือร้อยละ 2.49 ในขณะที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 52.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5 จากไตรมาสก่อน จากการกันเงินสำรองลดลงหลังจากที่เร่งกันในปี 2555 เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.4

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนแข็งแกร่ง การใช้เกณฑ์ BASEL III ตั้งแต่ต้นปี 56 กระทบสัดส่วนเงินกองทุนเล็กน้อย โดยอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับร้อยละ 15.8 เนื่องจากการปรับลดการนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิเป็นเงินกองทุนตามเกณฑ์ใหม่ เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 12.3 จากการนับส่วนเกินทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุนเผื่อขายและส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดินและอาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ