Analysis: ดัชนี PPI จีนลดลงต่อเนื่องจุดชนวนความกังวลภาวะเงินฝืดในภาคการผลิตของจีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 10, 2013 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายนนั้น ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความกดดันด้านภาวะเงินฝืดในภาคการผลิตของจีน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุ PPI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะเงินเฟ้อของผู้บริโภคในอนาคต เมื่อเดือนเมษายนร่วงลง 2.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม และยังปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 หลังจากที่ดัชนี PPI ลดลงเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2555 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆที่เพิ่งจะร่วงลงเมื่อเร็วๆนี้ รวมทั้งอุปสงค์ที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในตลาดภายในประเทศมีแนวโน้มที่จะรั้งราคาผู้ผลิต และคาดการณ์ว่า ดัชนี PPI จะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำในระยะสั้น

ถัง เจียนเหว่ย นักวิจัยของแบงค์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่น กล่าวว่า ข้อมูลการบริโภค และข้อมูลเชิงอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่าคาดการณ์ในช่วงไตรมาสแรก ชี้ให้เห็นว่า ดัชนี PPI คงจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงนี้

ดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งเป็นดัชยีย่อยของดัชนี PMI ภาคการผลิต ลดลงในระดับของการหดตัวของ 40.1% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 และต่ำกว่าระดับ 50.6% ของเดือนมีนาคม

เผิง เหวินเจิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคพิตอล คอร์ป (CICC) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตที่ร่วงลงสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ภายในประเทศจีนที่อ่อนตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆที่ลดลงในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นอ่อนแอ

ไชน่า เมอร์ชานท์ ซีเคียวริตีส์ ระบุว่า มาตรการลดรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนคาดว่า จะยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ และอุปสงค์ด้านอุตสาหกรรมในตลาดภายในประเทศ จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เนื่องจากความสามารถในการผลิตที่สูงเกินความต้องการ

ไชน่า เมอร์ชานท์ ซีเคียวริตีส์ เปิดเผยว่า ดัชนี PPI จะยังไม่การฟื้นตัว เนื่องจากอุปสงค์ภายใน และนอกประเทศที่อ่อนตัว

ถัง เจียนเหว่ย มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่า ดัชนี PPI จะเผชิญกับแรงกดดันจากการฟื้นตัวที่ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์ที่อ่อนตัว

ราคาผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดในภาคการผลิต นักวิเคราะห์กล่าวว่า ราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอาจทำให้การลงทุนเพื่อซื้อสินค้าเข้าสต็อกลดลง และในขณะเดียวกันยังส่งผลให้อุปสงค์โดยรวมลดลงอีกด้วย

CEBM ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านการลงทุน ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอาจทำให้ราคาสินทรัพย์และราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั่วโลกลดลงไปอีก ซึ่งจะก่อให้เกิดการขยายตัวของภาวะเงินฝืดในบริษัทภาคอุตสาหกรรมจีน

เปง เหวินเจิง กล่าวว่า ภาวะเงินฝืดในภาคอุตสาหกรรมอาจเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลสำหรับเศรษฐกิจจีน แม้ว่าการลงทุนจัดซื้อสินค้าเข้าสต็อกของจีนในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เปง เหวินเจิง ระบุ การลงทุนเพื่อจัดซื้อสินค้าเข้าสต็อกของบริษัทต่างๆจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้หรือไม่ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ขึ้นอยู่กับขอบเขตการขยายตัวของอุปสงค์ และราคาผลิตภัณฑ์ว่า จะสามารถทำให้ภาคการผลิตหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดได้เร็วพอหรือไม่ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ