In Focusมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงรุกของญี่ปุ่น ใครได้ ใครเสีย?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 15, 2013 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่นายชินโสะ อาเบะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ภายหลังพรรคเสรีประชาธิปไตยคว้าชัยชนะอย่างถล่มถลายในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ปีที่แล้ว นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกก็ยิ่งแด่นชัดขึ้นตามภาพฝันของเขาที่เคยใช้ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งรวมไปถึงการแทรกแซงธนาคารกลางของประเทศจนนายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และรองผู้ว่าอีก 2 คน ต้องลงจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เปิดทางให้นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้สนับสนุนโยบายผ่อนคลายการเงิน เข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ หลังจากที่สละตำแหน่งประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

ก่อนที่จะถึงยุคของรัฐบาลชุดอาเบะ บีโอเจดำเนินการผ่อนคลายทางการเงินมาโดยตลอด แต่นายอาเบะมองว่า ยังเป็นการผ่อนคลายที่น้อยเกินไปและไม่สามารถยุติปัญหาเงินฝืด ที่เป็นปัญหาเรื้อรังซึ่งฉุดรั้งการขยายตัวของประเทศได้ เมื่อถึงคราวบีโอเจในยุคของนายกฯอาเบะ จึง “จัดเต็ม" ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกหลายชุด เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ภายใน 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหนุนการเติบโตภายในประเทศ อาทิ เพิ่มการถือครองพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลญี่ปุ่น 50 ล้านล้านเยนต่อปีเพื่อฉุดอัตราดอกเบี้ยให้ลดลง รวมทั้งให้คำมั่นว่าจะซื้อพันธบัตรทุกประเภทของรัฐบาล ขยายโครงการพันธบัตรรัฐบาลที่ปัจจุบันมีอายุไถ่ถอนไม่ถึง 3 ปี เป็น 7 ปี ตลอดจนวางเป้าหมายให้ฐานเงินเป็นหลักปฏิบัติหลักสำหรับการดำเนินการในตลาด และดำเนินการในตลาดเพื่อหนุนฐานเงินเพิ่มขึ้นเป็น 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี

แม้หลายฝ่ายจะออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผลักดันเชิงรุกของญี่ปุ่น เพราะอาจทำให้ระดับเงินเฟ้อสูงขึ้นจนกระทั่งรัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้พันธบัตรของตนเองได้ แต่แรงผลักดันเชิงรุกดังกล่าวก็เริ่มส่งผลดีต่อภาคธุรกิจในประเทศแล้ว เนื่องจากมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเงินวอนเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน

*ภาคธุรกิจญี่ปุ่นเฮ เยนอ่อนหนุนผลประกอบการดีขึ้น

ฤดูกาลเผยผลประกอบการเมื่อเร็วๆนี้แสดงให้เห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นหลายรายมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งช่วยหนุนให้ผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นกอบเป็นกำ

บริษัทในภาคการผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นถือเป็นหัวใจที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจญี่ปุ่น ต่างแสดงผลประกอบการที่ดีขึ้นจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง โดยโตโยต้า มอเตอร์ เปิดเผยว่าผลกำไรสิทธิของปีธุรกิจที่สิ้นสุด ณ เดือนมี.ค. ทะยานขึ้น 239.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน สู่ระดับ 9.6216 แสนล้านเยน

ทางด้านยักษ์ใหญ่รถยนต์ญี่ปุ่นอีกรายอย่างฮอนด้า มอเตอร์ เปิดเผยว่า กำไรสุทธิในไตรมาสที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. ทะยานขึ้น 6.6% สู่ระดับ 7.57 หมื่นล้านเยน (760.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับ 7.15 หมื่นล้านเยนในไตรมาสเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว

ส่วนมิตซูบิชิ มอเตอร์ ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรสุทธิปีงบการเงิน 2555 ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. เป็น 3.8 หมื่นล้านเยน จากคาดการณ์ที่ 1.3 หมื่นล้านเยน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1.88 หมื่นล้านเยน ขณะที่ผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นราว 2 พันล้านเยนจากการอ่อนค่าลงทุกๆ 1 เยน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ฝั่งผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีรายใหญ่อย่างโซนี่ คอร์ปเปิดเผยว่า บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 4.303 หมื่นล้านเยนในปีงบการเงิน 2555 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมี.ค. หลังปีงบการเงินก่อนหน้าบริษัทขาดทุนสุทธิ 5.7 พันล้านเยน ถือเป็นการทำกำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี จากการขายสินทรัพย์และอานิสงส์เยนอ่อน บริษัทยังมีกำไรจากการดำเนินงาน 2.301 แสนล้านเยน จากเดิมที่ขาดทุนไป 6.728 แสนล้านเยนในปี 2554

*เกาหลีใต้โฮ วอนแข็งเทียบเยน กระแทกภาคอุตสาหกรรม, ส่งออก

แม้ญี่ปุ่นยืนกรานมาโดยตลอดว่า นโยบายเชิงรุกมีวัตถุปะสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นตามมากลับโจมตีภายนอก ที่ใกล้กันที่สุดคือบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเกาหลีใต้ซึ่งเรียกว่าได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากผลิตสินค้าชนิดเดียวกับญี่ปุ่น และส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น โดยในไตรมาสแรกของปีนี้เงินวอนแข็งค่าขึ้น 14.4% แล้วเมื่อเทียบเยน

บทวิเคราะห์ของ Business Korea ระบุว่า การอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเร็วๆนี้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเกาหลีใต้ โดยภาคส่งออกที่สำคัญเกือบทั้งหมด อาทิ เรือเดินสมุทร เหล็กกล้า ยานยนต์ เครือจักร รวมถึงภาคปิโตรเลียมส่งสัญญาณชะลอตัวลง

กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานเกาหลีใต้รายงานข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย.ว่า อัตราเฉลี่ยการขยายตัวต่อวันของการส่งออกเกาหลีใต้อยู่ที่ -7.9% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2555 และแม้ว่าเกาหลีใต้จะเกินดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ในเดือนเม.ย. แต่สัดส่วนการเกินดุลนั้นร่วงลงอย่างหนักจากเดือนก.พ.

สำหรับมูลค่าสินค้าส่งออกสำคัญที่เกาหลีใต้แข่งขันกับญี่ปุ่นอย่างดุเดือด อาทิ เรือเดินสมุทร ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า และรถยนต์นั้น ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเม.ย.มูลค่าการส่งออกเรือเดินสมุทรร่วงกว่า 44.8% ส่วนการส่งออกเหล็กกล้าและรถยนต์ลดลง 13.6% และ 2.4% ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกาหลีใต้ไปยังญี่ปุ่นเดือนเม.ย.ลดลงอย่างหนักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากผลพวงโดยตรงของทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินเยน โดยมูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังญี่ปุ่นในเดือนเม.ย.ร่วงลง 11.1% จากเดือนก่อนหน้า

แม้แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ยังออกมาเตือนว่า การอ่อนค่าของเงินเยนจะกระทบอันดับความน่าเชื่อถือของเกาหลีใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหล็กกล้าและสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด

การอ่อนค่าของเงินเยนในระยะนี้เป็นสาเหตุให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจประกาศปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 2.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยธนาคารกลางเกาหลีใต้ให้เหตุผลว่า "เมื่อพิจารณาทิศทางการเติบโตในอนาคต เศรษฐกิจเกาหลีใต้เผชิญทั้งความเสี่ยงขาขึ้นที่เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากบังคับใช้งบประมาณเพิ่มเติม และความเสี่ยงขาลงที่เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของค่าเงินเยนญี่ปุ่น"

แม้หลายฝ่ายจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินเยน แต่เวทีการประชุมเศรษฐกิจระดับโลกต่างมีมติที่จะไม่ขัดขวางการดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกของญี่ปุ่นในปัจจุบัน และไม่มีเป้าหมายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่กรุงวอชิงตันเมื่อปลายเดือนเม.ย. และล่าสุดการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ที่เมืองไอเลสเบอรีใกล้กรุงลอนดอนที่ปิดฉากไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถผ่อนคลายทางการเงินได้อีกในอนาคต ทว่าถ้าญี่ปุ่นออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มจนกระทบประเทศอื่นๆในระดับที่เกินจะรับได้ เราอาจจะได้เห็นความเคลื่อนไหวจากประเทศต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณเตือนญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ