สศก.เผยโรค EMS สร้างความเสียหายในภาคตอ.แล้วกว่า 40% กระทบผลผลิต-ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 22, 2013 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก(ฉะเชิงเทรา ระยอง และจันทบุรี) พบว่า ผลผลิตลดลงเนื่องจากเกิดโรคตายด่วนหรือโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งขาวใหญ่ของฉะเชิงเทรา ซึ่งได้แก่ อำเภอเมือง และอำเภอคลองเขื่อน ส่วนจังหวัดระยอง พบบริเวณปากน้ำประแสร์ ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง และจังหวัดจันทบุรี ที่ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ และตำบลตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ โดยประมาณความเสียหายร้อยละ 40

ด้านสถานการณ์ราคา พบว่า จากปัญหาโรคตายด่วน ผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งของประเทศ และปริมาณการส่งออก ปี 2556 ในไตรมาสแรกลดลง เป็นเหตุให้ราคากุ้งพุ่งสูงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ต้นปี 2556 เช่น กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 161 บาท และสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นกิโลกรัมละ 205 บาท ในเดือนเมษายน 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27

อย่างไรก็ตาม การป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้จัดทำคำแนะนำเบื้องต้น วิธีการปฏิบัติงานให้กับโรงเพาะฟัก และเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งในบ่อดินให้มีการฆ่าเชื้อโรคในโรงเพาะฟัก ตั้งแต่ ระบบอากาศ ระบบน้ำบ่อหรือถังพ่อแม่พันธุ์ และอุปกรณ์และเครื่องมือเพาะพันธุ์ ส่วนเกษตรกรเองควรมีการเตรียมบ่อที่ดี กำจัดสารอินทรีย์ก้นบ่อ ตากบ่อให้แห้ง ฆ่าพาหะและเชื้อในบ่อ ควรมีบ่อพักน้ำ และฆ่าเชื้อในน้ำก่อนนำมาใช้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งหากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าจะช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับลูกกุ้งได้

ทั้งนี้ โรคตายด่วนหรือโรค EMS ได้เริ่มระบาดมาตั้งแต่ ปี 2553 ที่ประเทศจีน เวียดนาม และมาเลเซีย ก่อนที่จะระบาดเข้ามาในประเทศไทย ปลายปี 2554 ถึงปี 2555 และยังระบาดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้เกษตรกรส่วนใหญ่หยุดเลี้ยงชั่วคราว ปล่อยบ่อทิ้งร้างเป็นจำนวนหลายพันบ่อ ไม่กล้าลงเลี้ยงกุ้งรอบใหม่ ส่วนเกษตรกรที่ยังเลี้ยงอยู่ก็ยังเลี้ยงแบบไม่เต็มที่ ไม่กล้าที่จะลงกุ้งหนาแน่น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีอยู่ในระดับสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ