กนอ.ชู3มาตรการดันนิคมฯมาบตาพุดสู่ระบบกรีนโลจีสติก ตั้งเป้าลดมลพิษชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 23, 2013 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เปิดเผยถึงนโยบายเร่งด่วนควบคุมมลภาวะกลุ่มนิคมฯและท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เตรียมนำระบบกรีนโลจีสติก โครงการพัฒนาระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green logistics) ผ่าน 3 มาตรการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตนิคมฯ คุณภาพชีวิตของชุมชนแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมฯ ตลอดจนคาดหวังว่าจะสามารถลดความหนาแน่นการจราจรขนส่งระหว่างท่าเรือ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

กลยุทธ์ที่ 1 การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift mode) ได้แก่การเคลื่อนย้าย วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง อาทิ รูปการเคลื่อนย้ายจากรถไปเรือ หรือรถไปราง การวางระบบรางขนส่ง ฯลฯ

กลยุทธ์ที่ 2 การกำกับดูแลตามกฏหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฏหมายการขนส่ง และยกระดับมาตราฐานความปลอดภัยในการขนส่ง อาทิ การกำหนดเส้นทางการเดินรถไม่ให้ผ่านพื้นที่ชุมชน การกำหนดเวลาเดินรถ ฯลฯ

กลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และลดความหนาแน่นของการจราจรบนถนนและรองรับการขยายตัวด้านการขนส่งจากภาคอุตสาหกรรมในอนาคตสำหรับในทุกช่องทาง

ทั้งนี้ จากที่ กนอ. ได้ดำเนินการสร้างโครงการเชื่อมต่อสัญญาณแจ้งเตือนภัยจากระบบเฝ้าระวังมายังศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) ในกลุ่มนิคมฯและท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยองนั้นได้ดำเนินการวางระบบแล้วเสร็จ สามารถเชื่อมโยงแจ้งเหตุฉุกเฉินของโรงงานมายังศูนย์เฝ้าระวังฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 25 โรงงาน หรือกว่า 10% ของปริมาณโรงงานทั้งหมดที่มีจำนวน 148 โรงงาน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเชื่อมโยงสัญญาณครบ 100% ภายในปี 2558 โดยตัวอย่างรายชื่อโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2556 ได้แก่ บริษัท แอร์ ลิควิด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด บริษัท สไตรโนลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

อย่างไรก็ตาม กนอ.มีนโยบายในการเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกำกับดูแลโรงงานให้ปฎิบัติตามกฏหมาย และระเบียบต่างๆ ทั้งนี้แผนงานการเชื่อมโยงระบบเฝ้าระวังของโรงงานมายังศูนย์เฝ้าระวังฯไม่ใช่การดำเนินงานตามกฏหมายบังคับ แต่เป็นความร่วมมือจากผู้ประกอบการ โดยปัจจุบัน โรงงานกว่า 148 เขตนิคมฯและท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดำเนินงานการผลิตอุตสาหกรรมประเภทปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้า ครอบคลุมเนื้อที่ 10,215 ไร่ แบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 7,092 ไร่ เขตที่พักอาศัยของชุมชนโดยรอบ 1,490 ไร่ และที่เหลือเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จำนวนประชากรอาศัยโดยรอบรวมกว่า 200,000 คน หรือกว่า 50,000 ครัวเรือน

สำหรับศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) เป็นกลไกลที่สำคัญในการติดตามเฝ้าระวังและควบคุมสั่งการในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยแบ่งระบบติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านอากาศ ด้านน้ำ ด้านฐานข้อมูลและการเชื่อมโยง ด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ ด้านความปลอดภัย รวม 21 ระบบ อาทิ ระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศจากปล่องแบบต่อเนื่อง สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศรถเคลื่อนที่ สำหรับตรวจวัดคุณภาพอากาศ สถานีตรวจคุณภาพน้ำต้นคลองและปลายคลองระบบการเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งอุตสาหกรรม ระบบฐานข้อมูลอัตราการระบายมลสารทางอากาศ รถสนับสนุนหน่วยเคลื่อนที่เร็วและประชาสัมพันธ์กระจายข่าว ระบบเครือข่ายความปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิด ระบบเชื่อมต่อระบบติดตามเฝ้าระวังของโรงงานเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบทันที ฯลฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ