สภาพัฒน์ ปัดแต่งตัวเลข GDP หวังกดดันกนง.ลดดอกเบี้ย ยันคำนวณตามมาตรฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ยืนยันว่า การจัดทำตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ของสศช.เป็นไปตามมาตรฐานสากลขององค์การสหประชาชาติที่ใช้กันทั่วโลก มีการประเมินติดตามคุณภาพจากองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลสถิติอย่างต่อเนื่องทั้งรายไตรมาสและรายปี ซึ่งประมวลผลบนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วนกว่าทุกหน่วยงาน

ทั้งนี้ เหตุที่ สศช.ต้องออกมาชี้แจงก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.ไม่ใช่เป็นการตอบโต้ แต่เป็นการชี้แจงตามหลักวิชาการ และขอยืนยันว่าข้อมูลสถิติที่เป็นทางการ คือ ข้อมูลของสศช.เพียงแหล่งเดียวที่เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานจากทุกแหล่ง ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.), กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม ,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น โดยเห็นว่าควรจะแยกการพิจารณาระหว่างข้อมูลจริงที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด แตกต่างจากข้อมูลจากการประมาณการณ์ที่ถือว่ามีความน่าเชื่อถือน้อยที่สุด จึงไม่ต้องการให้นำมาปะปนกัน เพราะจะเกิดความสับสน และเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจของธปท.เป็นข้อมูลจากการประมาณการณ์ที่เก็บข้อมูลไม่ครบจากทุกแหล่ง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 1/56 ของสภาพัฒน์ที่โตเพียง 5.3% นั้นออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยมีการมองกันว่าสภาพัฒน์ต้องการจับมือกับกระทรวงการคลังในการกดดันให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.

"ข้อมูลทางการ คือสภาพัฒน์ฯ ซึ่งใช้ข้อมูลพิ้นฐานจากทุกแหล่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการดัชนีที่เร็ว แต่เขาไม่สามารถรอบคอบแบบสภาพัฒน์ฯได้...ใช้โอกาสชี้แจงตามหลักวิชาการ ไม่ใช่ตอบโต้ ขอให้มั่นใจตัวเลขสภาพัฒน์ฯ อยู่บนพื้นฐานที่ครบถ้วนทุกแหล่ง"นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ดัชนีการการบริโภคของธปท.ที่คำนวณสินค้าไม่ครบทุกประเภท ซึ่งแตกต่างจากของสศช.ที่ครอบคลุมถึง 300 รายการ โดยข้อมูลธปท.อาจไม่ได้รวมหมวดบริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านตัดผม โรงพยาบาล แหล่งบันเทิง การบริการไปรษณีย์ หรือการบริการด้านคนรับใช้ ที่ถือเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ รวมถึงรายจ่ายด้านน้ำมันที่ต้องแยกรายการ เพราะมีการใช้น้ำมันถึง 3 ส่วน ทั้งรถยนต์ส่วนตัว การขนส่งและคมนาคมสาธาณะ และภาคอุตสาหกรรม และ ดัชนีการบริโภค เดือน พ.ค.56 ของธปท.ที่ประกาศออกมาขยายตัวร้อยละ 3.7 ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขของสศช. ที่การบริโภคขยายตัวร้อยละ 4.2

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา การขยายตัวไม่เกินร้อยละ 4 หากเกินระดับดังกล่าวต้องมีมาตรการรัฐเข้ามากระตุ้น และราคาสินค้าเกษตรต้องดี แต่ตั้งแต่ปี 54 ราคาสินค้าเกษตรดิ่งลงมาตลอด และปีนี้ราคาสินค้าเกษตรก็ไม่ดี ดังนั้นการบริโภคก็น่าจะหดตัวตาม

ส่วนเรื่องการขยายตัวของสินเชื่อนั้น ต้องพิจารณาข้อมูลทั้งจากระบบธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งจะเห็นว่าการขยายตัวของสินเชื่อมีอัตราที่ลดลง โดยหากเทียบการขอสินเขื่อในเดือนธ.ค.54 - เดือนมี.ค.55 สินเชื่อเพิ่มขึ้น 229,399 ล้านบาท แต่การขอสินเชื่อเดือนธ.ค.55 - มี.ค.56 อยู่ที่ 124,104 ล้านบาท พบว่าสินเชื่อลดลง 105,295 ล้านบาท ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อภาคครัวเรือนทั้งระบบ อยู่ที่ 7.87 ล้านล้านบาท สาเหตุเพราะแรงส่งจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงจากปี 55 เป็นเพราะมีการซ่อมแซมฟื้นฟูบ้านเรือนหลังน้ำท่วมหมดแล้ว

เลขาธิการ สศช. มองว่า จีดีพีไตรมาส 1/56 น่าจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 5.3 แต่สาเหตุที่จีดีพีโตไม่สูง เพราะการส่งออกไตรมาสแรกต่ำมาก โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 จากเป้าหมายปกติโตร้อยละ 10 การบริโภคก็อ่อนตัว เงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และผู้ประกอบการก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากจึงทำให้กำไรไม่สูง โดยผลกำไรที่ได้จะมาคำนวณเป็น GDP ทำให้ GDP อยู่ในระดับต่ำ

ขณะเดียวกัน บ่ายวันนี้ สศช.จะได้หารือร่วมกับ ธปท.เพื่อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อมูล ก่อนจะมีการนำข้อมูลดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ประกอบการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ