กสิกรฯ ชี้สัญญาณศก.Q1/56 ชะลอ หนุนกนง.ลดดอกเบี้ย 0.25%-ออกมาตรการเสริม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 29 พ.ค.นี้ มีโอกาสมากขึ้นที่ กนง.จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจไม่สามารถรักษาจังหวะการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการชะลอลงของการใช้จ่ายในประเทศ หลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ซึ่งสะท้อนจากสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2556 ที่ผ่านมา
"สัญญาณการชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2556 อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง.พิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเป็นหลักประกันในการสนับสนุนแรงส่งการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าอื่นๆ แม้ว่าได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท โดยเห็นได้จากการส่งออกของประเทศคู่แข่งทางการค้า เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ในช่วงไตรมาส 1/2556 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีการขยายตัวต่ำกว่าประเทศไทย

นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย มาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ไม่ได้เป็นผลมาจากทิศทางค่าเงินที่แข็งขึ้นเป็นการเฉพาะ ดังนั้น หาก กนง.พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก็น่าจะเป็นไปเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ มากกว่าตอบโจทย์การดูแลค่าเงินบาท อีกทั้งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท น่าจะขึ้นอยู่กับทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นหลัก

การส่งสัญญาณถึงการชะลอขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องจับตามอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดอาจจะส่งผลต่อทิศทางของค่าเงินต่างๆ รวมทั้งเงินบาทให้มีโอกาสจะอ่อนค่าลงก็เป็นได้

ภายใต้สถานการณ์ที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีนที่เริ่มมีสัญญาณการอ่อนแรงขายภาคการผลิต ความไม่แน่นอนในประเด็นด้านการคลังของสหรัฐฯ รวมทั้ง แรงกดดันต่อการขยายตัวของยูโรโซนจากมาตรการรัดเข็มขัด ก็อาจเป็นปัจจัยให้ กนง.ให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า โดยพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.75% เป็น 2.50% หรือปรับลดลง 0.25% ซึ่งการปรับเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็นไปเพื่อเป็นหลักประกันว่าแรงส่งทางเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสนันสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่คลายตัวลง อาจทำให้ กนง.มีช่องว่างในการพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนความต่อเนื่องการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่มาก โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2556 น่าจะอยู่ที่ 2.6% และ 1.4% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าระดับกรอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 3.5% เนื่องจากแรงกดดันจากราคาอาหารและพลังงานน่าจะอยู่ในระดับต่ำ จากนโยบายของภาครัฐในการดูแลระดับราคาสินค้า รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่น่าจะทรงตัว

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าหากอัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว โดยอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบจะกระทบต่อการออมของภาคครัวเรือน และเพิ่มความเสี่ยงด้านปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของทางการและการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภคของสังคมชนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้น

นอกจากนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวลดลง และอาจนำไปสู่การกู้ยืมเพื่อลงทุนในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การเก็งกำไรในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เป็นต้น

"หาก กนง. เลือกที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็อาจมีความจำเป็นที่ทางการจะต้องพิจารณาดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Prudential Measures) ควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันเศรษฐกิจจากความเสี่ยงในการก่อตัวของภาวะฟองสบู่และภาวะหนี้ครัวเรือน อันเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษ" เอกสารระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ