In Focusสงครามค่าเงินโลกรอบใหม่ เส้นทางการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 29, 2013 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 การทำสงครามในรูปแบบที่ใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันทั่วโลกอาจไม่ใช่สิ่งที่คุ้นชินกันเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้ ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องดูจะเป็นปัญหาใหญ่มากกว่าการแย่งชิงดินแดนและการแสดงแสนยานุภาพทางทหาร สงครามในยุคปัจจุบันจึงมีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมโลกไปสู่การใช้ศาสตราวุธทางเศรษฐกิจเข้าต่อสู้กันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศของตน และหนึ่งในรูปแบบของสงครามดังกล่าวก็คือ “สงครามค่าเงิน" นั่นเอง

สงครามค่าเงิน หรือ Currency War หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นการปรับลดค่าเงินเพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยประเทศต่างๆจะแข่งขันกันในการทำให้สกุลเงินของตนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะเป็นผลดีในการช่วยส่งเสริมการส่งออก ขณะที่ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะมีราคาแพงขึ้น ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศก็จะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์จากตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนด้วยเช่นกัน

เรื่องเก่าเล่าใหม่ที่โลกยังไม่เบื่อ

สงครามค่าเงินอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปีนี้ แต่เป็นสิ่งที่เศรษฐกิจโลกเคยประสบมาแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2553 เมื่อประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนต่างเป็นไม้เบื่อไม้เมากันในประเด็นค่าเงินหยวน โดยสหรัฐโจมตีรัฐบาลจีนว่าได้กำหนดให้อัตราเงินหยวนมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อเอื้อประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมแก่กลุ่มผู้ส่งออกของจีนในการส่งสินค้าไปขายยังตลาดทั่วโลก อันเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศและช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน

สหรัฐได้เพียรพยายามอย่างหนักที่จะกดดันให้จีนปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นตามความเป็นจริงของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนความพยายามของสหรัฐจะไร้ผล เพราะจีนก็ถือว่าตนก็มีศักดิ์ศรีเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเช่นกัน จึงไม่ยอมอ่อนข้อโดยง่าย สหรัฐจึงต้องแก้เกมส์ด้วยการงัดมาตรการที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเป็นการโต้ตอบจีน ขณะเดียวกันกับที่เศรษฐกิจของสหรัฐเองก็มาถึงช่วงขาลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤตและอัตราว่างงานพุ่งสูง สหรัฐจึงได้ออกมาตรการที่เรียกกันว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ หรือ QE หากจะพูดง่ายๆ มาตรการ QE ก็คือการอัดฉีดหรือพิมพ์เงินดอลลาร์เข้าสู่ระบบการเงิน เมื่อตลาดมีปริมาณเงินดอลลาร์จำนวนมาก ก็ย่อมจะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงโดยปริยาย

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มขยับในเชิงรุกในสงครามเงินเยน

การที่สหรัฐเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นโยบายทางการเงินของสหรัฐที่หวังจะจัดการกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนของจีนที่ต่ำเตี้ยเกินจริง จึงไม่ได้ส่งผลกระทบจำกัดอยู่เฉพาะแค่จีนเท่านั้น ญี่ปุ่นก็รับผลกระทบไปไม่เบา เนื่องจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้เผชิญกับภาวะเงินฝืดยืดเยื้อยาวนานมานับ 2 ทศวรรษ ประกอบกับประสบเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิครั้งรุนแรงเมื่อต้นปี 2554 เมื่อมาเจอกับนโยบายที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าของสหรัฐ ค่าเงินเยนจึงแข็งค่าทำสถิติสูงสุดนับแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นได้ดำเนินการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะยังไม่ใช่ยาแรงพอ จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนมาถึงยุคของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในการผลักดันนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในเชิงรุก เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ภายใต้การบริหารของนายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการคนใหม่ที่มีแนวคิดด้านนโยบายการเงินที่สอดรับกับนายอาเบะ มีมติเดินหน้าเพิ่มปริมาณการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศขนานใหญ่แบบไม่กำหนดวันสิ้นสุดโครงการ

การประกาศนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในเชิงรุกของญี่ปุ่นส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาเหนือระดับ 103 เยนต่อดอลลาร์ที่ช่วงกลางเดือนพ.ค. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี 7 เดือน นอกจากนี้ เงินเยนที่อ่อนค่าลงยังได้หนุนดัชนีนิกเกอิปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน ภาวการณ์ดังกล่าวส่งให้หลายฝ่ายมีความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบและกังวลว่านโยบายการเงินของญี่ปุ่นจะเป็นการจุดชนวนให้สงครามค่าเงินทั่วโลกครั้งใหม่ปะทุขึ้น โดยประเทศอื่นๆอาจจะดำเนินนโยบายการเงินตามอย่างญี่ปุ่น เพื่อทำให้ค่าเงินของตนอ่อนแรงลง ซึ่งจะเป็นผลดีด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

เวทีโลกรับรองความชอบธรรมของนโยบายญี่ปุ่น

แม้เวทีการประชุมเศรษฐกิจที่สำคัญระดับโลกอย่างการประชุมจี -20 ในเดือนเม.ย. และการประชุมจี-7 ในเดือนพ.ค. ต่างก็แสดงท่าทีออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆเลี่ยงการทำสงครามค่าเงิน แต่ก็ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์โดยตรงหรือตำหนิญี่ปุ่นเกี่ยวกับการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในเชิงรุก ซึ่งทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ยืนยันหนักแน่นว่าวัตถุประสงค์ของการดำเนินนโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศหลุดพ้นจากความซบเซาและภาวะงินฝืดที่ดำเนินมากว่า 20 ปี โดยไม่ได้จงใจกดเงินเยนให้อ่อนค่าลงเพื่อความได้เปรียบด้านการส่งออกสินค้าแต่อย่างใด

มุมมองของเวทีเศรษฐกิจระดับโลกที่ไม่ได้ต่อต้านนโยบายของญี่ปุ่นนั้น เท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมแก่ทางการญี่ปุ่นที่จะสานต่อนโยบายต่อไป อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายให้ประเทศอื่นๆแข่งขันกันทำให้ค่าเงินของตนต่ำลงเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณกลายๆว่าสงครามค่าเงินทั่วโลกรอบใหม่ได้เริ่มส่อเค้าลางที่จะก่อตัวขึ้นอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

นอกจากนี้ ในการแถลงแนวโน้มเศรษฐกิจของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรสเมื่อค่ำคืนวันที่ 22 พ.ค.ตามเวลาไทยนั้น ประธานเฟดระบุว่า เฟด “สนับสนุน" แผนการซื้อสินทรัพย์ที่ญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินการเมื่อเร็วๆนี้ โดยระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวดูเหมือนได้ส่งผลค่อนข้างมากทั้งต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจที่แท้จริงในหลายๆด้าน

จากสงครามค่าเงิน สู่สงครามลดดอกเบี้ย

นอกเหนือจากการผ่อนคลายเชิงปริมาณด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการเงินแล้ว หลายประเทศพากันเริ่มดำเนินการเพื่อปกป้องค่าเงินของตนไม่ให้แข็งค่ามากขึ้นผ่านวิธีการต่างๆ โดยอาวุธทางการเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำสงครามค่าเงินก็คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และยังเป็นการช่วยสกัดการไหลเข้าของกระแสเงินร้อนที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆในช่วงที่ผ่านมานั้น แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่มีการนำมาสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวก็คือการแข็งค่าของสกุลเงินในประเทศ

เปิดฉากต้นเดือนพ.ค. ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) นำเทรนด์ด้วยการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 0.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค. โดยเป็นการปรับลดครั้งแรกตั้งแต่เดือนก.ค. ปี 2555 และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญกับความอ่อนแอ

ต่อมา ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ 7.25% ในวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ต้นปีนี้ และในวันเดียวกัน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงสู่ระดับ 2.5% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

หลังจากนั้น ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.75% ในการประชุมวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและแนวโน้มที่มีความผันผวนมากขึ้นของเศรษฐกิจโลก

เมื่อกลางเดือนนี้เอง ธนาคารกลางเวียดนามประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 7% จากระดับ 8% มีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 13 พ.ค. ขณะที่ผู้ว่าธนาคารกลางเวียดนามเปิดเผยในการแถลงข่าววันนี้ว่า เวียดนามเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับประเทศต่างๆในหลายภูมิภาคที่มีนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

และล่าสุดเมื่อวานนี้ ธนาคารกลางฮังการีได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.50% โดยนับเป็นการปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 10 จากระดับ 7.00% ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่สกุลเงินโฟรินท์ของฮังการีได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา แม้จะดูเหมือนว่ามติปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางฮังการียังไม่สามารถหยุดยั้งการแข็งค่าของสกุลเงินในประเทศได้

เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำและกำลังเผชิญกับวิกฤต ประเทศต่างๆจึงต้องหาหนทางแก้ไขปัญหาด้วยการลดค่าเงินในหลายรูปแบบ และการลดอัตราดอกเบี้ยก็เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางดังกล่าวด้วย เพราะเมื่อประเทศหนึ่งๆลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะลดความน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนในการถือครองสกุลเงินของประเทศนั้นๆ และจะส่งผลให้สกุลเงินดังกล่าวอ่อนค่าลงนั่นเอง

ในภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันรุนแรงปัจจุบัน ทุกประเทศต้องหาวิธีการที่จะเอาตัวรอดจากด้วยการออกมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกันกับที่จะต้องแก้เกมส์นโยบายการเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอดได้อย่างดีที่สุดหรือเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งอาจจะต้องจับตากันอีกยาว เพราะสงครามค่าเงินทั่วโลกดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างชัดเจนเท่านั้น!!!


แท็ก In Focus:   สงคราม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ