(เพิ่มเติม) มว.คลังมองกนง.ลดดบ. 0.25% น้อย-ช้าเกินไป แต่ยังดีกว่าไม่ลด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2013 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติในวันนี้ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ถือว่าน้อยเกินไป และช้าเกินไป แต่มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นไปอีกในระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังจะประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อดูแลในเรื่องนี้
"หลังจากนี้ทางกระทรวงการคลังคงจะทำงานร่วมกับ ธปท.อย่างใกล้ชิดต่อไป แม้ว่าในขณะนี้จะไม่สอดคล้องกับตัวผมอย่างเต็มที่ในเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย แต่ผมก็ยังทำงานประสานอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวนขึ้นอีก"นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับในส่วนของมาตรการที่จะดำเนินการต่อที่มีการแก้ไขกฎหมายนั้น ในวันนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งมาตรการนี้จะกำหนดให้เจ้าพนักงานสามารถกำหนดเงื่อนไขค่าธรรมเนียม วิธีการ ในการรับเงินที่ไหลเข้าและไหลออก

นายกิตติรัตน์ กล่าวย้ำว่า เงินไหลเข้าไม่ต้องกังวลว่าจะไปกำหนดเงื่อนไขอะไรพิเศษ เพียงแต่มีเงื่อนไขอย่างเดียวว่า ถ้ามีการไหลเข้าเกินกว่าเหตุ หรือมากเกินไปจนผิดสังเกตุ อาจจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขบางอย่างขึ้นมา ซึ่งทาง ธปท.สามารถที่จะดำเนินการได้เองเพราะถือว่ามีกฎหมายรองรับให้ แต่ก็ได้รับการยืนยันจากธปท.ว่าหากมีจะมีการดำเนินการในส่วนใด ทางธปท.จะดำเนินการอย่างรอบคอบและหารือกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด

นายกิตติรัตน์ ยังระบุถึงด้านดีการลดอัตราดอกเบี้ยว่า ส่งผลให้ดอกเบี้ยลดต่ำลง ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ช่วยปิดความห่างของอัตราดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น และมีส่วนช่วยทำให้ภาวะต้นทุนของผู้ประกอบการหรือผู้กู้เดิมมีต้นทุนที่ทุเลาเบาบางลง มีส่วนช่วยทำให้ ธปท ขาดทุนน้อยลง

ในด้านความเสี่ยง อาจทำให้มีผลกระทบต่อดอกเบี้ยของผู้ออม หรือ ทำให้เกิดการเก็งกำไรนอกภาคการออม แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว การลดดอกเบี้ยยังมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

แต่ในขณะนี้ทุกคนสนใจในเรื่องของค่าเงินว่าหลังจากลดดอกเบี้ยแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป นายกิตติรัตน์ มองว่า หากเงินบาทอ่อนลงในระดับที่ผู้ประกอบการอยู่ได้ ความจำเป็นในการพูดคุยในเรื่องอัตราดอกเบี้ยกับธปท.จะคลายลงไป แต่เรื่องนี้จะเป็นความกดดันให้กับรัฐบาลอีกครั้ง หากมาตรการออกไปแล้วแต่เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น ถึงตรงนั้นอาจต้องมีการคิดกันจริงจังอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ