ภาคเอกชน แนะผู้ประกอบการสร้างสมดุลระหว่างหนี้สิน-รายได้ ปิดความเสี่ยง FX

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2013 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย แนะผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ค่าเงินบาทผันผวน ด้าน ส.อ.ท.คลายความกังวลเรื่องปัญหาค่าเงินบาท แม้ กนง.จะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยได้เสนอไป

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าเม็ดเงินที่ค้าง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจะไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน

ดังนั้นผู้ที่มีส่วนในการกำกับนโยบายจึงควรหามาตรการรองรับและหาทางให้เม็ดเงินที่จะเข้ามาสร้างประโยนช์ให้กับระบบเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ซึ่งทางสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยได้ทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลให้เปิดโอกาสให้เม็ดเงินเหล่านั้นไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ในพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ขณะที่นโยบายดอกเบี้ยควรจะถูกนำออกมาใช้เป็นมาตรการสุดท้ายและใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นจริงๆ

"การบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ผู้ประกอบการควรสร้างความสมดุลย์ระหว่างหนี้สิน กับรายได้ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการยุติความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน" นายชนินท์ กล่าว

โดยในส่วนของ บมจ. บ้านปู (BANPU) นั้น นายชนินท์ กล่าวว่า ได้เปลี่ยนแปลงหนี้สินไปสกุลเงินดอลลาร์แล้วถึง 80% มีหนี้สินสกุลเงินบาทเพียง 20% เนื่องจากรายได้เกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนหนี้ต่างประเทศขึ้นอีกราว 5-10% เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ของงบดุล

ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนั้นเป็นสิ่งที่ตลาดทุนคาดการณ์ไว้แล้ว ดังนั้นการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ตอบรับข่าวเท่าที่ควร

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. วานนี้ แม้จะต่ำกว่าที่ ส.อ.ท.เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ แต่ก็ทำให้คลายความกังวลได้พอสมควร ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐก็เป็นการลดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในขณะนี้ได้ในระดับหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ยังอยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องติดตามผลที่เกิดขึ้นอีกครั้ง รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค่าในระยะต่อไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ