"กิตติรัตน์"ยันกู้2ล้านล.คลังเอาอยู่ หนี้สาธารณะพุ่ง แต่ไม่เกิน50%

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday June 1, 2013 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากปี 40 มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในประเทศไทย ในช่วงนั้นเงินสำรองของประเทศแทบจะไม่มี และเงินบาทอ่อนค่าลงไปต่ำกว่า 50 บาท แต่หลังจากนั้นใช้เวลาอีก 4-5 ปี ประเทศไทยก็ได้มีการเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะการค้าที่เกินดุลเสมอมา จนทำให้ปัจจุบันประเทศมีเงินสำรองกว่า 1.8 แสนล้านเหรียญ จึงทำให้มองว่าประเทศไทยมีสภาพคล่องของเงินในระดับสูง ส่งผลให้ภาครัฐได้มีการประเมินความเป็นไปได้ในการลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมองว่าปัจจุบันประเทศไทยมีมีหนี้สาธารณะในระดับที่ต่ำ อยู่ที่ประมาน 43-44 % ส่งผลให้มองว่าสามารถที่จะลงทุนแล้วจะไม่ทำให้หนี้สาธารณะเกิน 60% อย่างไรก็ตาม มองว่า GDP ของประเทศที่จะเติบโตตามไปด้วย จะทำให้หนี้สารธารณะเกิน 50 % อย่างแน่นอน ทั้งนี้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาทนั้น จะใช้เวลาจนถึงปี 2564

ประโยชน์ของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น จะลดการพึ่งพาถนน รถยนต์จะลดน้อยลง จากการที่จะมีการไปใช้บริการในระบบรางมากขึ้น จากปัจจุบันมีการใช้บริการ รถไฟฟ้า ทั้ง รถไฟฟ้าลอยฟ้า และ รถไฟฟ้าใต้ดิน เพียง 5% เท่านั้น ซึ่งหลังจากมีการพัฒนาแล้วจะเพิ่มจำนวนการใช้ให้มากขึ้นเป็น 30% รวมถึงจะมีการพัฒนารถไฟไทยให้เป็นรางคู่จะทำให้มีใช้บริการขนส่งของทาง รถไฟมากขึ้น ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการลดการใช้พลังงานในประเทศ

ในขณะเดียวกันมองว่าในช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้มีการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดแล้ว จะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในเวลานั้นประเทศไทยก็จะสามารถเข็งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การขนส่งภายในประเทศดีขึ้นรวมถึงการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าปัจจุบันเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วในการที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จากที่มองแนวโน้มประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หลังที่จะมีการเปิดในช่วงปี 58 รวมถึงมองแนวโน้มในอนาคตการค้าขายตามจังหวัดชายแดนต่างๆ จะเติบโต มากกว่า กรุงเทพฯ ที่เป็นการเติบโตแบบกระจุกตัว โดยหากมีการลงทุนมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ไปแล้วจะทำให้ในต่างจังหวัดมีการเติบโตมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ