In Focusนานาทัศนะ เฟดกับอนาคต “QE" อยู่หรือไป ใครกำหนด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 5, 2013 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า QE นั้น ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังถูกกล่าวขวัญถึงอยู่ในตอนนี้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เฟดได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และได้เสร็จสิ้นการใช้มาตรการ QE1 และ QE2 แล้ว ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) วงเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนในปัจจุบัน เฟดกำลังดำเนินโครงการ QE3 ด้วยการซื้อสินทรัพย์วงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ พร้อมให้คำมั่นว่าจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปจนถึงปี 2558 หรือจนกว่าอัตราว่างงานจะลดลงต่ำกว่า 6.5% จากปัจจุบันที่ระดับ 7.5%

อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลถึงความเป็นไปได้ที่เฟดอาจลด/ละ/เลิกโครงการซื้อพันธบัตรเร็วกว่ากำหนดได้ถูกจุดชนวนขึ้น หลังจากที่บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีส่วนกำหนดนโยบายการเงินของเฟดได้ตบเท้าออกมาแสดงความเห็น บ้างก็เผยความคิดกันแบบเคลียร์คัทชัดเจน บ้างก็กล่าวแบบสงวนท่าทีจนทำให้มีการนำไปตีความกันต่อถึงความนัยที่ซ่อนอยู่

“เดินหน้า หรือ ถอยหลัง" “เมื่อไหร่ และ อย่างไหร่" — คำถามที่ยังต้องรอคอยคำตอบ

เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเฟดมีกำหนดการประชุมร่วมกันทุกๆ 6 สัปดาห์เพื่อตัดสินใจด้านนโยบาย ซึ่งจนกว่าจะถึงการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 18-19 มิ.ย.นี้ การแสดงความคิดความเห็นหรือท่าทีของประธานเฟด ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดในประเด็นที่เกี่ยวกับ QE จึงถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากนักลงทุนและบุคคลในแวดวงการเงินทั่วโลก

เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด กล่าวในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ว่า การลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณนั้น อาจจะมีขึ้นในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งในอีกไม่กี่ครั้งข้างหน้า ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคและตัวเลขจ้างงาน-ว่างงานของสหรัฐ

แม้ความเห็นของเบอร์นันเก้จะมีความสำคัญสูงสุด แต่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายอีก 18 ท่านก็มีส่วนร่วมในการอภิปรายนโนบายของธนาคารกลางสหรัฐเช่นกัน และความเห็นของคณะกรรมการก็ไม่ได้ถูกปล่อยปะละเลย แต่ในทางกลับกัน เสียงของพวกเขาเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายของเฟดด้วย

  • ชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟด ชิคาโก ซึ่งเป็นสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ปีนี้ กล่าวว่า เขาจะรับฟังความคิดเห็นของกรรมการท่านอื่นๆในการประชุมครั้งหน้า ครั้งหลังจากนั้น หรือครั้งถัดไป พร้อมทั้งระบุว่า เฟดอาจซื้อพันธบัตรอย่างที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ไปจนถึงแค่ช่วงใบไม้ร่วง หากว่าในตอนนั้นตลาดแรงงานพ้นขีดอันตรายแล้ว อีแวนส์กล่าวว่าเขาจะสนับสนุนให้เฟดยุติการซื้อบอนด์ ก็ต่อเมื่อตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200,000 ตำแหน่งต่อเดือนเป็นเวลาหลายเดือน อัตราว่างงานลดลง และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าแนวโน้ม
  • จอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด ซานฟรานซิสโก กล่าวว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขาก็เปิดกว้างต่อการปรับลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรของเฟดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

นายวิลเลียมส์ระบุว่า หากมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่องจากตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เขาเชื่อว่าอาจจะมีการปรับสัดส่วนการซื้อพันธบัตรในช่วงฤดูร้อน โดยอาจจะเป็นการปรับลดลงเล็กน้อย

  • เอริค โรเซนเกรน ประธานเฟด บอสตัน กล่าวว่า เขาเห็นด้วย หากเฟดจะชะลอการซื้อพันธบัตรในเร็วๆนี้ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงฟื้นตัวในอัตราปัจจุบัน โดยนายโรเซนเกรนเป็นผู้ที่มีท่าทีสนับสนุนอย่างมากต่อการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดด้วยการซื้อพันธบัตร

นายโรเซนเกรนระบุว่า อาจจะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่เฟดจะยุติการซื้อพันธบัตรในทันที โดยแนะว่าเฟดควรพิจารณาลดสัดส่วนการซื้อสินทรัพย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป หากตลาดแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

  • วิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟด นิวยอร์ก กล่าวในที่ประชุมสมาคมญี่ปุ่นซึ่งจัดขึ้นที่นิวยอร์กว่า เฟดอาจปรับเพิ่มหรือลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ ขณะที่แนวโน้มตลาดแรงงานและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม นายดัดลีย์กล่าวว่า “เนื่องจากแนวโน้มมีความไม่แน่นอน ผมจึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าในการปรับเปลี่ยนแผนการซื้อสินทรัพย์ครั้งหน้า จะเป็นการปรับเพิ่มหรือลดขนาดการซื้อ"

"ผมเชื่อว่าเฟดน่าจะเตรียมปรับขนาดโครงการซื้อพันธบัตร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูตลาดแรงงานให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน"
  • ริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานเฟด ดัลลัส ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่าเขาสนับสนุนให้เฟดชะลอการซื้อสินทรัพย์ โดยระบุว่าเฟดอาจเพียงแค่ชะลอการซื้อ แทนที่จะยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน
  • เจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟด เซนต์หลุยส์ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมแห่งหนึ่งที่นครแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีว่า เฟดควรจะเดินหน้าใช้ QE ต่อไปเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
  • เจฟฟรีย์ แลคเกอร์ ประธานเฟด ริชมอนด์ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐ โดยชี้ว่าการซื้อพันธบัตรอาจจะไม่สามารถกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สูงเกินกว่า 2% ได้ ขณะเดียวกันก็ยังทำให้การยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น

นายแลคเกอร์กล่าวว่า เฟดควรหยุดซื้อหลักทรัพย์ MBS เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวขึ้นแล้ว และควรลดการซื้อพันธบัตรรัฐ

  • นารายานา โคเชอร์ลาโกตา ประธานเฟด มินนีอาโพลิส ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงใน FOMC ปีนี้ ได้เน้นย้ำจุดยืนในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย (Dovish) ของเขา โดยระบุถึงความสำคัญของการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำและดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น แต่การฟื้นตัวนั้นยังไม่แข็งแกร่ง

เขาเตือนว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อทำให้การเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นนั้นอาจจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญและอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับให้ผลดีเพียงเล็กน้อยและไม่แน่นอน บาล

  • นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟด แอตแลนตาได้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการใช้โครงการซื้อพันธบัตรและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดต่อไป โดยกล่าวว่า "จะเป็นการเร็วเกินไปที่จะยุติโครงการซื้อพันธบัตรในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความเหมาะสม"
  • เอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟด แคนซัสซิตี้ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนการชะลอโครงการซื้อพันธบัตร โดยกล่าวว่าการลดขนาดโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ตลาดการเงินลดการพึ่งพานโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ ซึ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนของเขาที่เคยออกมาบอกก่อนหน้านี้ว่า นโยบายของเฟดในปัจจุบันนั้นผ่อนคลายเกินไป และธนาคารกลางควรลดการซื้อพันธบัตรเพื่อลดความเสี่ยง เขาคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2% ปีนี้ และกล่าวเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ว่า การผ่อนคลายนโยบายมากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ

ลด/ละ/เลิก "QE" ใครได้ ใครเสีย

โธมัส เจ. ซาร์เจนท์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2554 กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินแผนยุทธศาสตร์ทางออก (Exit strategies) หรือการดำเนินนโยบายทางการเงินที่รัดกุมมากขึ้นนั้น จะไม่เป็นปัญหาใหญ่ในแง่ของทฤษฎี

“QE คือนโยบายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นการทดลอง" นายซาร์เจนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยโซล กล่าวกับผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

เขากล่าวว่า ไม่มีข้อมูลในอดีตเพื่อคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินยุทธศาสตร์ทางออก และระบุว่า ผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการลดหรือยุติ QE นั้นอาจประเมินได้จากทฤษฎี

การแสดงความคิดเห็นของเจ้าของรางวัลโนเบลมีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลเป็นวงกว้างที่ว่าการยุติการซื้อพันธบัตรเร็วกว่ากำหนดอาจส่งผลข้างเคียงในเชิงลบต่อกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวอาจดึงสภาพคล่องออกจากตลาดการเงินโลก

“เมื่อประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วดำเนินแผนยุทธศาสตร์ทางออก สภาพคล่องทั่วโลกอาจตึงตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบส่งผ่านจากประเทศหนึ่งแบบไม่สมดุล (asymmetric spillover effects)" นายคิม ชุง-ซู ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้กล่าว

ผู้ว่าแบงก์ชาติเกาหลีใต้กล่าวว่า การดำเนินแผนยุทธศาสตร์ทางออกโดยประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียวอาจจุดชนวนให้เกิดการไหลออกของเงินทุนโดยฉับพลัน และเกิดภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานนโยบายระหว่างธนาคารกลางประเทศต่างๆ เพื่อลดผลกระทบร้ายแรงดังกล่าว

นายคิมกล่าวว่า หลายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในเชิงรุก เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก บรรเทาภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และทำให้ตลาดการเงินระหว่างประเทศในยุคหลังวิกฤตมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ดี นายคิมเตือนเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการ QE ต่อไปโดยประเทศที่มีสกุลเงินเป็นสกุลเงินหลักของโลก โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าว นำมาซึ่งผลภายนอกเชิงลบโดยไม่เจตนาต่อกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

รี ชางยอง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมองว่า นโยบายการเงินแบบขยายตัวอย่างไม่เป็นไปตามแบบแผน (unconventional expansionary monetary policy) ทำให้ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและส่งเสริมการขยายตัว ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นต้องเป็นบวก"

“แต่ในทางกลับกัน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบส่งผ่านในเชิงลบที่มีต่อการไหลของเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินทรัพย์" นายรีกล่าว

จากการวิเคราะห์เชิงประจักษ์ (empirical analysis) หรือการวิเคราะห์จากประสบการณ์ของนายรีนั้น QE ในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้ทำให้การไหลของเงินทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความผันผวนมากขึ้น ยอดเงินทุนไหลเข้าสู่เศรษฐกิจ 10 ประเทศในเอเชีย ซึ่งรวมถึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้นั้น ดิ่งลงเหลือ 1.7% ของจีดีพีในช่วง 2 ปีจนถึงปี 2552 จากอัตราเฉลี่ยที่ 8.4% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะพุ่งพรวดขึ้นแตะ 7.8% ในระหว่างปี 2553-2555

นายรีระบุว่า การแกว่งตัวอย่างรุนแรงของการไหลของเงินทุนในช่วงวิกฤตการเงินโลกนั้นมีปัจจัยหลักมาจากการลงทุน อาทิ การซื้อขายหุ้นและพันธบัตร พร้อมกับชี้ว่า เศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากกว่าและตลาดทุนที่พัฒนาแล้วจะเผชิญกับการแกว่งตัวด้านการลงทุนมากกว่า

เบน สเตล และดินาห์ วอล์คเกอร์ นักวิเคราะห์จากสภาวิเทศสัมพันธ์ (CFR) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของสหรัฐ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ข้อมูลเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐยังคงผันผวน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากสำหรับเฟดที่จะบรรลุเป้าหมายในการปรับขนาดการซื้อสินทรัพย์ตามข้อมูลเศรษฐกิจที่กำลังจะมีการเปิดเผย

"เฟดกำลังพยายามจับปลาสองมือ" ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านระบุในบทความที่เผยแพร่บนบล็อกแห่งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างถึงการที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้ออกมาส่งสัญญาณเมื่อไม่นานมานี้ว่า เฟดจะพิจารณาทบทวนอัตราการซื้อสินทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลเศรษฐกิจที่กำลังจะมีการเปิดเผยต่อไป จากที่ก่อนหน้านี้ เฟดได้พยายามหนุนการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำในอนาคต ด้วยการให้คำมั่นว่าจะยังคงผ่อนคลายนโยบายไปจนถงปี 2558

นักวิเคราะห์ทั้งสองกล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐมีความผันผวนอย่างมากตลอดระยะเวลาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และระบุว่า การใช้ตัวเลขจ้างงานเฉลี่ย 6 เดือนเพื่อคาดการณ์อัตราว่างงานในอนาคตนั้น บ่งชี้ถึงมาตรวัดที่แตกต่างกันอย่างมากในการตัดสินว่าเฟดใกล้ที่จะบรรลุเป้าอัตราว่างงานที่ 6.5% แล้วหรือยัง

สเตลและวอล์คเกอร์กล่าวว่า การซื้อสินทรัพย์ไม่ใช่เครื่องมือที่แม่นยำ ดังนั้นความคิดที่จะพิจารณาปรับขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ผันผวนนั้น จึงถือเป็นความคิดที่แย่มาก

อย่างไรก็ดี ถึงใครจะพูดอย่างไร แต่ธนาคารกลางสหรัฐก็ยังคงต้องพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจ ซึ่งข้อมูลสำคัญอันดับหนึ่งที่กำลังจะมีการรายงานก็คือตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราว่างงานเดือนพ.ค.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในเวลา 19.30 น.วันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย ท่ามกลางทุกสายตาที่จับจ้องว่า เฟดจะชี้ชะตาอนาคต "QE" อย่างไรต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ