(เพิ่มเติม) ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำมิ.ย.ต่ำกว่าพ.ค. สะท้อนทัศนคติเชิงลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 11, 2013 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือน มิ.ย.2556 ดัชนีรวม ดัชนีเฉพาะกลุ่มนักลงทุน และดัชนีเฉพาะกลุ่มผู้ค้าทองคำ มีค่าดัชนี 32.91 จุด, 31.39 จุด และ 39.80 จุดตามลำดับ

อนึ่ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ(Gold Price Sentiment Index) ประจำเดือน พ.ค.56 อยู่ที่ 45.50 จุด

ทั้งนี้ ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่ระดับ 50.00 จุดค่อนข้างมาก สะท้อนทัศนคติในเชิงลบ โดยค่าความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิ.ย.มีค่าต่ำกว่าเดือนพ.ค. ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า การที่ราคาทองคำมีการปรับตัวลงต่อเนื่องติดต่อกันในช่วง 5 เดือนแรกของปี ทำให้ความมั่นใจว่าราคาทองจะสามารถกลับขึ้นไปเป็นเชิงบวกได้อาจจะลดน้อยลง

ศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยผลสำรวจสัดส่วนการลงทุนในทองคำกับเงินออมเพื่อการลงทุนของกลุ่มตัวอย่างที่คาดว่าจะลงทุนในทองคำในปี 56 กับที่เคยลงทุนในปี 55 พบว่า กลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะลดสัดส่วนการลงทุนทองคำเหลือเฉลี่ย 22.31% ในปี 56 ขระที่สัดส่วนการลงทุนในทองคำเฉลี่ยปี 55 อยู่ที่ 34.33% ลดลง 12.02% โดยสาเหตุของการลงทุนที่ลดลงนั้น เกิดจากความไม่แน่นอนของราคาทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง 5 เดือนติดต่อกัน

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำในเดือนมิ.ย. ได้แก่ ค่าเงินบาท ทิศทางของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาเศรษฐกิจยุโรป แต่ให้น้ำหนักค่าเงินบาทสูงสุด

ด้านนายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ สรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) ซึ่งรวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าทองคำ ประธานชมรมค้าทองคำ และผู้ประกอบกิจการด้านการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า เชื่อว่าราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนมิ.ย.โดยรวมน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,300-1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ ให้น้ำหนักกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1,300-1,380 ดอลลาร์/ออนซ์ และ 1,420-1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ หากราคาทองคำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) สุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดระหว่าง 20,000-21,500 บาท/หนึ่งบาททองคำ และกรอบความเคลื่อนไหวต่ำสุดระหว่าง 18,500-20,000 บาท/หนึ่งบาททองคำ โดยมีค่าเงินบาทและการชะลอมาตรการ QE ของธนาคากลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นประเด็นสำคัญในเดือนมิ.ย.

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มภาพรวมราคาทองคำยังอยู่ในเชิงลบจากปัจจัยการชะลอนโยบาย QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะลดขนาดการซื้อพันธบัตรที่ปัจจุบันมีการเข้าซื้อผ่านนโยบาย QE 3 ปริมาณ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน ทั้งนี้เชื่อว่าในอนาคตสหรัฐฯอาจจะไม่ชะลอมาตรการ QE เนื่องจากยังไม่เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชัดเจน เนื่องจากตัวเลขการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูงและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

นอกจากนี้ยังมีการขายต่อเนื่องของกองทุนขนาดใหญ่ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีมีแรงขายออกของกองทุนอย่างต่อเนื่องอย่างเช่น กองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่มีการถือครองทองคำสูงที่สุดในโลก ลดระดับการถือครองลงจาก 1,350 ตัน ในช่วงต้นปีมาใกล้ 1,013 ตัน ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งแรงขายอย่างต่อเนื่องถือเป็นแรงกดดันตลาดทองคำ ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีการบริโถคทองคำเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดต่ำลงและลดแรงดึงดูดในการถือครองทองคำในสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง

“เรามองว่าแนวโน้มของสหรัฐฯในอนาคตจะไม่ชะลอมาตรการ QE เนื่องจากตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ที่ 7.6% ซึ่งเป้าหมายของสหรัฐฯในการลดอัตราการว่างงานให้เป็นอยู่ที่ 6.5% จึงต้องมีการเพิ่มการจ้างงานอีก 2 ล้านคน จึงทำให้ตัวเลขการว่างงานเป็นไปตามเป้า และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ขณะนี้จึงอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่ที่ 1% โดยเป้าเค้าตั้งไว้ที่ 2.5% ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ชะลอมาตรการ QE ในอนาคต ซึ่งการที่สหรัฐฯส่งสัญญาณชะลอมาตรการ QE เป็นปัจจัยที่กดดันทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นและราคาทองปรับลดลง"นายภูษิต กล่าว

ส่วนแนวโน้มราคาทองคำแท่งในประเทศช่วงครึ่งปีหลังจะเคลื่อนไหวในกรอบ 19,000-21,500 บาท/หนึ่งบาททองคำ และให้น้ำหนักกรอบการเคลื่อนไหวในระยะยาวในช่วงครึ่งปีหลังระหว่าง 1,500-1,520 ดอลลาร์/ออนซ์ และ 1,250-1,320 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนน้ำหนักกรอบการเคลื่อนไหวในระยะสั้น 1,360-1,400 ดอลลาร์/ออนซ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ