ศาลปกครอง สั่งกกพ.เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2013 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรคกูเลเตอร์ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากเป็นกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 57 และ 67 ของรัฐธรรมนูญ
"ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เลขที่(สรข.5) 02-119/2553 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2553 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตดังกล่าว และให้คำสั่งเกี่ยวกับการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด" คำสั่งศาลฯ ระบุ

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ตามมาตรา 57 และ 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่การจัดทำประชาคมดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นเอกชน เป็นผู้จัดให้มีการดำเนินการ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดทำ และมีผู้เข้าร่วมประชาคมเพียง 1,239 คน ซึ่งเป็นประชากรเพียงร้อยละ 15.97 ของประชากรในพื้นที่ทั้งสิ้น 7,756 คน จึงไม่ใช่ความเห็นส่วนใหญ่ของประชาคมในพื้นที่ ประกอบกับสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือไม่ได้ให้ความเห็นชอบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว

นอกจากนั้น แม้ว่าอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงรายจะได้มีประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการอนุญาตก็ตาม แต่ในประกาศดังกล่าวก็ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทลักษณะ ที่ตั้ง และระยะเวลาในการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นสำคัญ และระบุข้อมูลว่ามีฝุ่นละอองจากปล่องควัน มาตรการป้องกันและแก้ไขโดยระบบ Wet Scrubber น้ำเป็นระบบปิดหมุนเวียนใช้ไม่ปล่อยออก ซึ่งไม่อาจถือได้ว่า เป็นการให้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการที่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลโดยทั่วไปโดยเฉพาะชาวบ้านธรรมดาได้รับความรู้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงมาตรการป้องกันแก้ไข ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

"การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีขั้นตอนและกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับในขณะที่พิจารณาออกใบอนุญาตผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลำเหมืองสาธารณะที่ไหลผ่านกลางพื้นที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มาประกอบการพิจารณา จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน และเป็นใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ" คำสั่งศาลฯ ระบุ

ส่วนข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ว่าไม่มีปัญหาเรื่องมลภาวะหรือสิ่งแวดล้อม ก็ปรากฏจากการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลว่ามีตัวอย่างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ขึ้นแล้วบริเวณโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนพาวเวอร์ ในจังหวัดสุรินทร์ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อ้างว่า เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับคดีนี้ นายบุญซ่น วงค์คำลือ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 100 คน ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยผู้ฟ้องทั้งหมดเป็นเกษตรกรและอาศัยอยู่ในพื้นที่พิพาทได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่พิพาท ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ