เครือซีพี แนะรัฐจัดโซนนิ่งพืชอาหาร-พลังงานภายใต้ระบบ ODM แก้ปัญหาการเกษตรในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 25, 2013 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในการสัมมนา"เกษตรเพื่ออนาคตประเทศไทย"ว่า ภาคเกษตรของไทยถูกมองข้ามมานาน โดยเฉพาะปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสูง แต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ซึ่งส่งผลทำให้บุคลากรภาคเกษตรลดน้อยลง เพราะไม่มีปัจจัยที่จะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ลูกหลานชาวนาเกษตรกรเลือกที่ทำงานในภาคบริการมากกว่าภาคเกษตรกรรม เนื่องจากผลตอบแทนจากการทำการเกษตรก็ไม่สูงเหมือนอาชีพอื่นๆ
"ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิดว่าจะทำยังไงที่จะดึงคนให้กลับเข้ามาสู่ภาคการเกษตรมากขึ้นเช่น ลดความเสี่ยงทั้งเรื่องการผลิต การตลาด ให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในเรื่องการทำเกษตรแบบ Bio Technology"นายสารสิน กล่าว

พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับผู้ซื้อหรือผู้ส่งออกด้วยระบบ ODM หรือ Original Design Manufacture คือการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรว่าพื้นที่ของเกษตรกรเหมาะสมที่จะปลูกพืชชนิดใด ปลูกอย่างไรจึงจะได้ผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้มีเกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้ตรงกับ Spec ความต้องการของตลาดหรือให้ตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้างผลิต

"เมื่อก่อนเรามี OEM คือการจ้างผลิต แต่ตอนนี้ต้องมี ODM เข้ามาช่วยด้วย จะทำให้ผลผลิตที่ออกมาตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง"นายสารสิน กล่าว

สำหรับปัญหาการดำเนินโครงการจำนำข้าวที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ นายสารสิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของการเมืองที่รัฐบาลจะต้องหาทางแก้ปัญหาให้ได้ โดยมองว่าไม่ว่าจะดำเนินการแทรกแซงราคาผลผลิตทางการเกษตรด้วยวิธีการใดก็ตาม ควรปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะผลผลิตทางการเกษตรยังขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานและต้นทุนในการผลิต

"ปัญหาการรับจำนำข้าวไม่ใช่เรื่องล้มเหลว เพราะเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เป็นนโยบายทางการเมือง ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของกำไรขาดทุนตั้งแต่แรก แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลก็ต้องหาวิธีแก้ไข ซึ่งมองว่ายังมีอีกหลายวิธีในการช่วยเหลือเกษตร เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น" นายสารสิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเปิดประมูลข้าวในสต็อก ทาง ซี.พี. จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสังเกตุการณ์ในภาพรวมก่อน แต่จะร่วมประมูลหรือไม่นั้นจะต้องดูความเหมาะสมของภาพรวมอีกครั้ง และมั่นใจว่าหากรัฐบาลเปิดประมูลข้าวในสต็อกเพื่อให้เอกชนนำมาผลิตเป็นข้าวถุงออกมาจำหน่ายในราคาถูก ซี.พี.ก็ยังคงการันตีคุณภาพข้าวของซี.พี.

*ห่วงข้าว-ปาล์ม หากเปิด AEC

ส่วนเรื่องความพร้อมของภาคเกษตรไทยหากเปิด AEC นายสารสิน มองว่า ทุกวันนี้เรายังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ภาครัฐบอกว่าพร้อม ผู้ประกอบการบอกยังไม่พร้อม ส่วนภาคเกษตรทุกวันนี้เรายังมีข้อมูลไม่ชัดเจนว่าพร้อมพรือไม่พร้อม แต่เชื่อว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เคยได้ยินคำว่า AEC แต่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่า AEC คืออะไร จะได้ประโยชน์อย่างไร ต้องเตรียมตัวหรือปรับตัวอย่างไรสำหรับการเข้าสู่ AEC

นายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ คณบดี คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า เป็นห่วงพืช 2 ชนิดคือ ปาล์มน้ำมันและข้าว ในส่วนของปาล์ม มองว่าหลังเปิด AEC ผลผลิตจากมาเลเซียและอินโดนีเซียอาจจะทะลักเข้ามาจนกระทบต่อผลผลิตในประเทศและอาจจะทำให้ราคาปาล์มในประเทศตกต่ำจนกลายเป็นปัญหา

ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลสูงถึง 56 ล้านลิตร/วัน การจะลดการนำเข้าพลังงานคือการต้องส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานเพื่อผลิตพลังงานทดแทน ไบโอดีเซลและเอทานอลล้วนเป็นพลังงานทางเลือกที่ประเทศไทยพูดถึงอย่างมากและส่งเสริมการใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เอทานอล ประเทศไทยสามารถผลิตจากอ้อยเป็นวัตถุดิบ ซึ่งปัจจุบันอ้อยเป็นพืชชนิดเดียวที่มีการผลิตแบบ ODM และมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง ทำให้อ้อยไม่ค่อยมีปัญหานัก เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขึ้นทะเบียนทุกคนจะได้รับการประกันราคา มีเงินอุดหนุนจากองทุนอ้อยและน้ำตาลทำให้เกษตรกรนิยมปลูกอ้อยมากขึ้น จนปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยในประเทศมีสูงถึง 30 ล้านไร่

ขณะที่ไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน ยังมีข้อจำกัดคือผลผลิตที่ได้เพียงพอเฉพาะสำหรับใช้ในประเทศเท่านั้น ปัจจุบันพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยมี 4 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 4-5 ตัน/ไร่ ซึ่งการบริโภคในประเทศมีอยู่ 2 ส่วนคือ ใช้ทำอาหารและใช้ทำพลังงาน หากช่วงไหนผลผลิตตกต่ำจนเกรงว่าขาดแคลนภาครัฐก็จะหันมาพิจารณาการนำเข้าจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยจะผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลให้เพียงพอกับความต้องการใช้จะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มอีก 30 ล้านไร่ ซึ่งต้องใช้เวลานานเพราะปาล์มน้ำมันกว่าจะเริ่มให้ผลผลิตได้ต้องรอถึง 5 ปี

นายเอนก ศิลปพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายงานวิจัยและพัฒนา กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ซี.พี.ได้คิดค้นปาล์มสายพันธุ์ CP Golden Tenera ซึ่งสามารถเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงถึง 22-24% เท่ากับปาล์มน้ำมันของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งสูงกว่าปาล์มทั่วไปที่ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันเพียง 17-18% และอยู่ระหว่างการร่วมมือกับสถาบันเอ็มเทคของกระทรวงวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยและพัฒนาก่อนจะนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อผลิตเป็นเชิงพาณิชย์ต่อไป

ในส่วนของข้าว จุดด้อยของข้าวไทยคือผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงเพราะ 80% ของชาวนาไทยคือขายที่ให้นายทุนแล้วกลับมาเช่าที่ดินตัวเองปลูกข้าว ค่าแรงสูง ปัจจัยการผลิตค่าปุ๋ยค่ายาปราบศัตรูพืชมีราคาแพง พันธุ์ข้าวอ่อนแอต่อสภาพอากาศโรคระบาดและศัตรูพืช แนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการคือภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรต้องร่วมมือกันหาทางออกให้ปัญหาเหล่านี้ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทย

*เพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เพียงพอต่อภาคเกษตรกรรม

นายมนตรี กล่าวเสริมว่า การเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เพียงพอต่อพื้นที่เกษตรก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกษตร เพราะปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวมี 60 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกอ้อย 30 ล้านไร่ แต่พื้นที่ในเขตชลประทานมีเพียง 29.6 ล้านไร่ แปลว่าที่เหลือต้องอาศัยสภาพดินฟ้าอากาศ

"ประเทศญี่ปุ่น จีน พื้นที่ชลประทานมี 100% แต่พื้นที่เกษตรบ้านเรามีแค่ 29.6 ล้านไร่ แปลว่าที่เหลือต้องอาศัยฟ้าฝนเป็นใจ บางพื้นที่แห้งแล้ง บางพื้นที่น้ำท่วม ทำอย่างไรจะให้ทุกพื้นที่เกษตรกรรมมีแหล่งชลประทานให้อย่างเพียงพอ"นายมนตรี กล่าว

ด้านนายเอนก กล่าวว่า ในภาคเกษตรระบบชลประทานถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งในการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล นอกจากจะเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตรด้วย โดยที่ผ่านมาจะพบว่าการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ ยังเกิดขึ้นยากเนื่องจากเกิดการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น รัฐบาลอาจพิจารณาลดขนาดเป็นการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดกลางหรือขนาดเล็กแทน

นอกจากนี้ พบว่าปัจจุบันเกษตรมีต้นทุนในการผลิตสูง เช่น ชาวนาที่มีต้นทุนปลุกข้าวสูงถึงไร่ละ 8-9 พันบาท จากต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ ค่ายา ค่าปุ๋ย และค่าเมล็ดพันธุ์ รวมถึงการใช้พื้นที่เพาะปลูกที่ไม่เหมาะสมทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ลดลงเหลือเฉลี่ย 300 กก./ไร่ จากค่าเฉลี่ยผลผลิตที่ควรได้ที่ 400 กก./ไร่

ดังนั้น เกษตรกรจะต้องลดต้นทุนในการผลิตลง เช่น การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมคุณภาพดี การลดการใช้สารเคมี และที่สำคัญการเลือกพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเหมาะสมต่อพืชชนิดนั้นๆ นอกจากนี้ในส่วนของรัฐบาลจะต้องมีการจัดโซนนิ่งในการเพาะปลูก การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ในการเกษตรมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ