(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย.ที่ 81.6 จากพ.ค.ที่ 82.5

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 4, 2013 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. 56 อยู่ที่ 81.6 ลดลงจาก 82.5 ในเดือนพ.ค. 56

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 71.8 ลดลงจาก 72.8 ในเดือนพ.ค. ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำมิ.ย.อยู่ที่ 73.5 ลดลงจาก 74.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.3 ลดลงจาก 100.4 ในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ และเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยลบมาจากการที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลด GDP ปี 56 ลงเหลือ 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 5.3% เศรษฐกิจชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า 14 ประเทศฟื้นตัวช้ากว่าคาด, ศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐบาลไปรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำจากประชาชนก่อน, คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ปรับลดราคารับจำนำข้าวจากตันละ 15,000 บาท เหลือ 12,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ, ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอนาคต รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง, ราคาน้ำมันดีเซล ยังทรงตัวอยู่ที่ลิตรละ 29.99 บาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่น่ากังวลจากข่าวเชิงลบที่ค่อนข้างมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/56 ยังไม่ดีขึ้นและซึมตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1/56 และทำให้คาดว่าไตรมาส 2/56 นี้ GDP จะขยายตัวได้ราว 4% เท่านั้น โดยลดลงจากไตรมาส 1/56 ที่ GDP ขยายตัวได้ 5.3%

“ประชาชนกังวลว่ารัฐบาลจะไม่สามารถมีเม็ดเงินมากระตุ้นได้จากที่โครงการจัดการน้ำต้องชะลอออกไป ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น...ตอนนี้สัญญาณของความเชื่อมั่นยังเป็นขาลง เพราะเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอลงเรื่อยๆ"นายธนวรรธน์ ระบุ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนในปัจจุบันจะชะลอตัวลงจนถึงปลายไตรมาส 3/56 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลและรอดูสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และความผันผวนทางการเมืองไทย

ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ถ้ารัฐบาลเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้นจะเป็นแรงพยุงสำคัญเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยผันผวนตามเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันประชาชนมีความรู้สึกว่าราคาสินค้าแพงขึ้น ทั้งๆ ที่จริงแล้วอัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูง น่าจะมีสาเหตุมาจากรายได้ปรับเพิ่มไม่ทันกับรายจ่าย ดังนั้น การที่รัฐบาลบริหารจัดการราคาพลังงานด้วยการชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ไปเป็นเดือน ก.ย.ว่ามีความเหมาะสม เพราะช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าใกล้เคียงกับจุดที่เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว จากที่คาดว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี

“เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นราวไตรมาส 4 เพราะฉะนั้นการดูแลราคาพลังงานไปจนถึงเดือนก.ย. ก็น่าจะเป็นประโยชน์...การตรึงราคา LPG และดีเซลเพื่อช่วยประคองค่าครองชีพของประชาชน จะช่วยไม่ให้เกิดผลต่อจิตวิทยาในเชิงลบได้"นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมมองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นงบท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. รวมทั้งงบเบิกจ่ายของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อเร่งให้เม็ดเงินได้กระจายลงไปสู่ระดับภูมิภาค นอกจากนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยเน้นการทำโรดโชว์ในกลุ่มเอเชียให้มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียยังไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากนัก ซึ่งภาคการท่องเที่ยวจะมีศักยภาพสูงในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้อย่างมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเพิ่มการอำนวยความสะดวกในเรื่องการค้าชายแดนให้มากขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3

“ในช่วงไตรมาส 3 ยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่ระดับหมื่นล้านที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ประกอบกับภาวะที่เศรษฐกิจโลกซึมตัว การส่งออกของไทยก็ยังไม่โดดเด่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะขาลง กำลังซื้อซึมตัว เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากในไตรมาส 3"นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เตรียมจะแถลงการณ์ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 56 โดยคาดว่าจะปรับ GDP ในปีนี้ลงเหลือ 4-4.5% จากเดิมที่คาดไว้ 4.8-5.2% ซึ่งจะมีการแถลงในรายละเอียดอีกครั้งวันที่ 8 ก.ค.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ