"โกร่ง"ฝากงานบอร์ด ธปท.ก่อนอำลาตำแหน่ง เดินหน้าแผนลดขาดทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 25, 2013 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการธปท.ยังมีความจำเป็นและยังมีความกระตือรือร้นที่ต้องเดินหน้าแผนการลดขาดทุนของธปท.ต่อไป หลังจากสถานะเริ่มดีขึ้นหลังจากค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า ซึ่งทำให้ผลขาดทุนของ ธปท.ลดลงถึง 1.2 แสนล้านบาท จากเดิมที่สูงถึง 8 แสนล้านบาท

“แม้คณะกรรมการ ธปท.จะมีการรายงานว่าสถานะขาดทุน ธปท.เริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีผลขาดทุนน้อยลงที่ 1.2 แสนล้านบาท จาก 8 แสนล้านบาท เหลือ 6 แสนกว่าล้านบาท แต่ผลขาดทุนก็ยังมีอยู่"นายวีรพงษ์ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการ ธปท. นัดสุดท้าย ก่อนเกษียณอายุในตำแหน่งวันที่ 31 ก.ค.นี้

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า หากสถานการณ์ค่าเงินต่างประเทศ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ธปท.ก็จะอยู่ในสถานะขาดทุนน้อยลง และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ข้างหน้าก็จะเป็นอย่างนั้น

“เงินดอลลาร์ค่อยๆ แข็งตัว ซึ่งการขาดทุนทางบัญชีน้อยลง ก็ถือว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้ขาดทุนน้อยลง ส่วนจะมาจากฝีมือของคณะกรรมการแก้ผลขาดทุนที่ทำให้ผลขาดทุนลดลงหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ขอแสดงความคิดเห็น"นายวีรพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจที่มีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่อง ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และยังต้องติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชะลอตัวลงของภาคส่งออก ดังนั้นภาครัฐก็ต้องพยายามเร่งการลงทุนต่างๆ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ควรเร่งทำประชาพิจารณ์ตามบทบัญญัติของกฏหมาย ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะเบิกจ่ายได้ทันตามแผนที่กำหนดไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินจะออกในช่วงต้นปีหน้า

ด้านนายศิริ การเจริญดี หนึ่งในกรรมการ ธปท.กล่าวว่า ทุกฝ่ายรับรู้แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวมานานแล้ว ซึ่งสภาพการเงินไทยในขณะนี้ก็ถือว่าตอบสนองพอสมควร ทำให้คนเกิดความเชื่อมั่น การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันถือว่าสมดุลแล้ว แต่ควรเร่งสร้างความสมดุลในจุดอื่นด้วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น คงไม่ใช่จะด้วยนโยบายการเงินอย่างเดียว ต้องสร้างจุดอื่นให้สมดุลด้วย ที่ผ่านมาเห็นว่าเกิดขึ้นเร็ว แต่ต้องไปดูต้นตอ และชัดเจนมากคือภาคการส่งออกที่เป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจชะลอ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเร่งผลักดัน ขณะที่ภาครัฐจะทำอะไรให้เร่งผลักดัน เพราะนโบบายการเงินพร้อมที่จะรองรับอยู่แล้ว ทั้งการหาเงินเพื่อมาลงทุน รวมถึงดอกเบี้ยก็ถือว่าไม่ได้สูง ดังนั้นก็ต้องทำให้เกิดความผสมผสาน

“สมมติผมซื้อรถปีนี้ ปีหน้าก็ไม่ได้ซื้อ ดังนั้นภาคใช้จ่ายครัวเรือนก็ต้องลดลงเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ คือการหนุนเรื่องส่งออก โครงการภาครัฐก็ต้องสนุบสนุนให้ทันกัน เม็ดเงินที่ตั้งไว้ในงบประมาณก็ทำตามเป้า เช่นเดียวกันรัฐวิสาหกิจก็ลงทุนตามแผน"นายศิริ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ