(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย มิ.ย.56 ส่งออกหด 3.38% นำเข้าโต 3.01% ขาดดุล 1.9 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 26, 2013 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน มิ.ย.56 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 19,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 21,013 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.01% ส่งผลให้ขาดดุลการค้าราว 1,915 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.56) การส่งออกมีมูลค่า 113,304 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.95% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 129,075 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.32% ส่งผลให้ขาดดุลการค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 15,771 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยที่มีผลให้การส่งออกลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะถดถอยส่งผลต่อความต้องการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และอิตาลี, เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงจากการลงทุนในภาคธุรกิจที่ชะงักงัน ประกอบกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่หดตัวลง และอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง, การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ และการส่งออกของญี่ปุ่น ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าขั้นกลางหดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ, เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น และอุตสาหกรรมกุ้งไทยประสบปัญหาโรคระบาดกุ้งตายด่วน(EMS) ซึ่งแพร่ไปทั่วทุกภูมิภาค ส่งผลให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 40% ของผลผลิตทั้งประเทศ จนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้าได้ อีกทั้งราคากุ้งภายในสูงกว่าราคาตลาดซึ่งทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของกุ้งไทยลดลง ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อกุ้งจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น และสหรัฐฯ ยังใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้ากุ้งแช่แข็งจากไทย

โดยสินค้าหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรในภาพรวมลดลง 7.1% โดยสินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ ข้าว(-0.5%) ยางพารา(-20.5%) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง) (-5.2%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-45.6%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(-13%) น้ำตาล(-9.2%) ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(+1.4%) ผักและผลไม้(+22.5%)

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญในภาพรวมลดลง 3.8% โดยสินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์(-11.6%) เครื่องใช้ไฟฟ้า(-6.1%) ทองคำยังไม่ขึ้นรูป(-54.1%) เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า(-1%) อาหารสัตว์เลี้ยง(-3.5%) ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ(+11.3%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก(+0.5%) สิ่งทอ(+4.7%) อัญมณี(ไม่รวมทองคำ)(+7.1%) ผลิตภัณฑ์ยาง(+1.6%) สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์(+5.3%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(+3.9%) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์(+7.6%) เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน(+3.6%) นาฬิกาและส่วนประกอบ(+25.8%) ของเล่น(+25.9%)

สำหรับภาวะตลาดหลักในภาพรวมลดลง 8.4% โดยญี่ปุ่น(-11.9%) สหรัฐอเมริกา(-9.4%) สหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศ(-2.4%), ตลาดศักยภาพสูงในภาพรวมลดลง 0.1% โดยจีน(-16.7%) ไต้หวัน(-11.6%) ขณะที่อาเซียน(9)(+5.5%)[อาเซียนเดิม(5)(+3.7%) อินโดจีนและพม่า(+10%)] เอเชียใต้(8)(+2.6%) ฮ่องกง(+9.7%) เกาหลีใต้(+4.7%), ตลาดศักยภาพระดับรองในภาพรวมเพิ่มขึ้น 3.9% โดยทวีปออสเตรเลีย(+6.1%) ทวีปแอฟริกา(+11.3%) ลาตินอเมริกา(+7.8%) รัสเซียและCIS(+15.4%) ขณะที่ตะวันออกกลาง(-2.9%) สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 12 ประเทศ(-2.6%) แคนาดา(-16.7%) และตลาดอื่นๆ ในภาพรวมลดลง 56.3 % โดยสวิตเซอร์แลนด์(-73.5%)

ขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุน ประเภทเครื่องจักรและส่วนประกอบ มีการนำเข้าลดลงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง และการนำเข้าหมวดวัตถุดิบเพื่อการผลิตสำหรับบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ซึ่งเดือนนี้มีการนำเข้าเหล็กลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง การก่อสร้างภายในประเทศลดลง และการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่จะเริ่มใหม่ อยู่ระหว่างรองบประมาณที่จะผ่านสภาฯ

นางวัชรี กล่าวว่า ยอดการส่งออกในปีนี้คงไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7-7.5% คาดว่าจะต้องมีการทบทวนเป้าหมายใหม่ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่า การส่งออกปีนี้จะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงปีก่อนที่ระดับ 3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ