TMB แนะส่งเสริมการออม-ลดบริโภคเกินจำเป็น แก้หนี้ภาคครัวเรือน สร้างเสถียรภาพศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2013 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของไทยที่เกิดจากระบบสถาบันการเงินได้เพิ่มขึ้นเร็วจนมีขนาดร้อยละ 75 ของ GDP ในไตรมาสแรกปีนี้ จากร้อยละ 57 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยมาจากธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 42, สถาบันการเงินของรัฐร้อยละ 30, สหกรณ์ออมทรัพย์ร้อยละ 15, บริษัทบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลร้อยละ 10 และอื่นๆ เช่น บริษัทประกัน, โรงรับจำนำอีกร้อยละ 3

สำหรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนตามการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ แบ่งหลักๆ ได้เป็นสินเชื่อเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 46 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ร้อยละ 29 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ (รวมสินเชื่อเงินสด) ร้อยละ 24 ซึ่งหากสังเกตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเทียบกับสิ้นปี 2551 พบว่าสัดส่วนสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 8 ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อและบริโภคอื่นๆมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เห็นได้ชัดว่าการกู้เพื่อมาอุปโภคบริโภคนั้นมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนสถานการณ์หนี้ที่เน้นการอุปโภคบริโภค เช่น การซื้อรถ, เครดิตการ์ด และสินเชื่อเงินสดต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องกลับมาคิดใหม่ว่าควรปรับการบริหารการใช้จ่ายใหม่หรือไม่ เนื่องจากสถิติช่วงประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนต่อหัวโดยประมาณว่าเป็นตัวแทนของครัวเรือนเพิ่มร้อยละ 5.4 ต่อปี

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเงินฝากถัวเฉลี่ยต่อบัญชีที่มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท เพิ่มจาก 72,389 บาท เป็น 87,141 บาท ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนประกันชีวิตมีจำนวนเงินเอาประกันต่อกรมธรรม์เพิ่มจาก 194,745 บาท เป็น 230,880 บาท แสดงให้เห็นว่าการออมผ่านเงินฝากและการทำประกันชีวิตซึ่งถือเป็นการออมขั้นพื้นฐานเพราะเข้าถึงได้ง่ายนั้น เพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกัน คือ ประมาณร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของการใช้จ่าย

"เราจึงต้องหันกลับมาใส่ใจและปรับตัวก่อนที่เหตุการณ์จะสายเกินแก้ ไม่ว่าจะเป็นการลดการบริโภคในสิ่งที่เกินตัวหรือเกินความจำเป็นโดยหันมาเก็บออมให้มากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ การที่จะประสบความสำเร็จดังกล่าวได้ ต้องมีการร่วมกันในทุกภาคส่วน กล่าวคือ ด้านสถาบันการเงินควรนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมที่หลากหลายแก่ผู้บริโภคให้ออมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่ทางการควรพิจารณาและดำเนินการออกกฎหมายสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการออมมากขึ้น เช่น การลดหรือยกเลิกอัตราภาษีดอกเบี้ยเงินฝากประจำ, การเพิ่มลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตให้มากกว่า 100,000 บาท เป็นต้น รวมถึงการสร้างวินัยการออมที่ดูเหมือนเป็นการบังคับ แต่จริงๆแล้วมีความสมัครใจเป็นพื้นฐาน เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดแรงจูงใจที่ผู้บริโภคสามารถรู้สึกและสัมผัสได้ว่าการเก็บออมคุ้มค่ากว่าการใช้จ่าย ระดับการออมก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและการก่อหนี้ก็จะลดลงโดยปริยาย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุว่า การออมของประชาชนจึงมีความสำคัญมากต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ทั้งในระยะสั้นและยาว เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ