(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค.ที่ 80.03 จาก มิ.ย.ที่ 81.6

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 6, 2013 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค. 56 อยู่ที่ 80.03 ลดลงจาก 81.6 ในเดือน มิ.ย.56

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 70.6 ลดลงจาก 71.8 ในเดือนมิ.ย.ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำก.ค.อยู่ที่ 72.4 ลดลงจาก 73.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.9 ลดลงจาก 99.3 ในเดือนมิ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย ความกังวลสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดคาดการณ์ GDP ปี 56 เหลือโต 4.2% จากเดิมที่คาดโต 5.1%, ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก, เหตุน้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง และภาวะการส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ช้า

ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลบวก ได้แก่ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ย, เงินบาทอ่อนค่า, ราคาน้ำมันดีเซลยังอยู่ในระดับทรงตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดว่า การบริโภคของประชาชนจะชะลอตัวลงไปจนถึงปลายไตรมาส 3 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลและรอดูสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองของไทย ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยูในระดับสูง

ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจุบัน ถ้ารัฐบาลสามารถคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยพยุงเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในปัจจุบัน ตลอดจนเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และถือว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนั้น อาจจะเป็นการเข้าสู่จุดเปลี่ยนว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4 หรือไม่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยเองในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังขาดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบกับมีปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเข้ามาที่ทำให้ประชาชนมีความกังวลมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ