ธปท.เผย Q2/56 สินเชื่อแบงก์ยังขยายตัวสูง แต่ชะลอลงจาก Q2/55 ตามภาวะศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2013 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/56 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวในระดับสูงแม้จะชะลอลงเล็กน้อย คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี กำไรสุทธิอยู่ในระดับสูง ฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 58.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยและกำไรจากการขายบริษัทย่อยของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ทั้งนี้ หากไม่รวมกำไรจากการขายบริษัทย่อยดังกล่าว ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 45.8 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 6.6 พันล้านบาท หรือ ร้อยละ 12.5 จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงเหลือร้อยละ 1.2

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin:NIM) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.49 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.53 จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ตามสินเชื่อที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนแข็งแกร่ง เงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากกำไรที่มีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สินทรัพย์เสี่ยงที่ขยายตัวสูง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นและอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงทรงตัวที่ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 12.3 ตามลำดับ

ทั้งนี้ สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวในอัตราสูง แต่ชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 12.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 69.9 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 10.1 จากการกู้ยืมรายใหญ่บางราย โดยสินเชื่อธุรกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในภาคการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม การผลิต ขณะที่สินเชื่อ SME (สัดส่วนร้อยละ 36.7 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 14.9

สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วนร้อยละ 30.1 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 19.5 จากสินเชื่อรถยนต์ที่การส่งมอบรถยนต์ภายใต้โครงการรถคันแรกทยอยหมดลง ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการแข่งขันให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์

สินเชื่อที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและมากกว่าการระดมเงินผ่านเงินฝากตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange : B/E) และเงินกู้ยืม ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก B/E และเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.9

คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้าง 263.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 7.9 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี สัดส่วน Gross NPL และ Net NPL ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวที่ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) มียอดคงค้าง 260.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมจึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.2

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการกันเงินสำรองเพิ่มขึ้นมากเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 162.5


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ