กรมวิชาการเกษตรเร่งจัดโซนนิ่งพืชศก.-เสริมความรู้ด้านSmart FarmerรับAEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2013 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าจัดโซนนิ่งเขตเพาะปลูกพืชอาหารและพลังงาน และเสริมองค์ความรู้เกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer เพื่อรับการแข่งขันยุคเปิดเสรีอาเซียน

จากมูลค่าส่งออกของสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2555 ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1,284,924.6 ล้านบาท เฉพาะในตลาดอาเซียน ไทยส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 267,733.7 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ความสำคัญของภาคเกษตรต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ความเข้มแข็งของภาคเกษตร ยังเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

ปัจจุบันได้เดินหน้าปรับยุทธศาสตร์และเข็นมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรเพื่อความได้เปรียบในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช การสร้างองค์ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ที่มีทักษะและศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น การพัฒนางานวิจัยให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืช เช่น เอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อลดการนำเข้าและการใช้พลังงานเชื้อเพลงฟอสซิล โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลเป็นส่วนประกอบในน้ำมันเบนซินและดีเซลไม่น้อยกว่า 9 และ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2556 ฯลฯ

อีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญและคาดว่าจะสามารถเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้รู้จักวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือการจัดระบบโซนนิ่งภาคเกษตร ปัจจุบัน พื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่ประมาณ 150 ล้านไร่ทั่วประเทศ ได้มีการกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชไปแล้ว 13 ชนิด สัตว์น้ำ 2 ชนิด ดังนั้น การจัดโซนนิ่ง จะเป็นแนวทางแก่เกษตรกรว่าควรปลูกพืช ทำปศุสัตว์ หรือเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดไหนในพื้นที่ใดจึงจะเหมาะสมที่สุดและได้ผลผลิตสูงสุด

ล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมบริการให้คำปรึกษา รวมถึงขอหนังสือรับรอง และขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศสินค้าเกษตร ณ ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งถือเป็นการร่วมสร้างเสริมศักยภาพการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของไทยแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อสร้างความสะดวกสบาย และช่วยลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ