"ประชา"มอบนโยบายผู้ว่าฯทำความเข้าใจชาวสวนยาง-ไม่กังวลยันทำดีที่สุดแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 10, 2013 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา เป็นประธานประชุมมอบนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรยางพาราแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ใน 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงผู้ว่าฯจ.เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯและรมว.เกษตรและสหกรณ์ นายจารุพงศ์ เรื่องสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯและรมช.เกษตรและสหกรณ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าร่วมประชุมด้วย

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า การเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาในวันนี้เพื่อต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนให้รับทราบในแนวทางการให้ความช่วยเหลือต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งในวันนี้ก็มีมติคณะรัฐมนตรีชัดเจน ซึ่งการแก้ไขปัญหาเป็นไปตามขั้นตอน หากอีกฝ่ายไม่รับรู้ก็จะมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจ อย่างไรก็ตามเวลานี้การแก้ไขปัญหามาถึงจุดสมบูรณ์แล้ว

“หวังว่าการตอบคำถามในวันนิ้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะไปสื่อสารกับประชาชนให้ตรงกันและทำความเข้าใจให้ชัดเจนที่สุด และหวังว่าจะไม่มีการประท้วงและชุมนุมปิดถนนอีก ขอฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการทุกจังหวัด หากจังหวัดใดยังมีการชุมนุมอยู่ ก็ให้เข้าไปเจรจาพูดคุยกับผู้ชุมนุมอย่างเร่งด่วน และรายงานมายังส่วนกลางด้วย การชุมนุมไม่ว่าเป็นการปิดสนามบิน หรือปิดถนนย่อมส่งผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น" พล.ต.อ.ประชา กล่าว

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา จะตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายคดีเกี่ยวกับปัญหายางพาราเพื่อดูแลในเรื่องคดีโดยมี พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยต้องขอไปศึกษารายละเอียดก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ในหลักการอยากจะช่วยอยู่แล้ว แต่ต้องดูในตัวบทกฎหมายด้วยว่าจะตต้องทำอย่างไร แต่ก็ต้องอยู่บนความถูกต้องด้วย

พล.ต.อ.ประชา กล่าว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มแกนนำ โดยเฉพาะแกนนำใน จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ว่ามีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร แต่ขณะนี้ตนเองไม่มีความกังวลใจแต่อย่างใด เพราะเราทำดีที่สุดแล้วและถือว่าได้ให้ประโยชน์อย่างมากที่สุดแล้ว

ด้านนายจารุพงศ์ กล่าวว่า จากนี้ไปภารกิจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คือการทำความเข้าในกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องมีการแบ่งสัดส่วนของหน่วยงานราชการว่าใครจะทำหน้าที่อะไร โดยต้องเน้นหนัก โดยขอให้ใช้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นศูนย์อำนวยการในการติดตามแก้ไขปัญหา

ขณะเดียวกันให้ผู้ว่าฯ ร่วมกับผู้บังคับการจังหวัดไปหาข่าวเพื่อความสงบ และดูในพื้นที่ให้ทราบว่าใครเป็นแกนนำในการชุมนุมเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างเรียบร้อย และให้ปลัดจังหวัดเรียกประชุมนายอำเภอทุกอำเภอมาชี้แจงข้อมูล โดยให้เชิญนายกฯ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นกลไกของรัฐทั้งหมดมาฟัง แล้วนำข้อมูลไปชี้แจงให้ลูกบ้านอย่างน้อย 100 คน ต้องรู้และเข้าใจถึงนโยบายการช่วยเหลือแก้ไขปัญหายางพารา ถ้าทำได้ครบถ้วนถูกต้องจะทำให้ปัญหาเบาบางลง รวมถึงขอให้กรมประชาสัมพันธ์ผลิตสื่อ อาจใช้สื่อมืออาชีพมาทำสปอตโฆษณาสั้นเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และอาจผลิตเป็นซีดีแจกในจังหวัด

นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าฯ ไปดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ที่มีเกษตรกร พ่อค้าที่รับซื้อและส่งออกยางพารา และภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแลแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่ทุกคนขอให้ตั้งใจทำงานแก้ไขปัญหา เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้โจทย์ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกยางพาราในวันนี้มีเพียง 15 จังหวัด แต่ในอนาคตต่อไปต้องดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศด้วยเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม พล.ต.อ.ประชา ได้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และผู้บังคับการจังหวัดนครศรีธรรมราชมาพบเป็นการส่วนตัว ขณะที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้พูดคุยส่วนตัวกับผู้บังคับการจังหวัดอื่นๆเพื่อกำชับถึงการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ