(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ย.ที่ 77.9 จากส.ค.ที่ 79.3

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 3, 2013 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ย.56 อยู่ที่ 77.9 ลดลงจาก 79.3 ในเดือน ส.ค.56 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 69.5, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 70.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.1 โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกรายการเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากความกังวลจาก 2 ปัญหาสำคัญ คือ ภาวะน้ำท่วม และปัญหาการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 57 และการแก้รัฐธรรมนูญกรณีที่มาของ ส.ว.

"ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงทุกรายการเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 55...ความกังวลของประชาชนมาจาก 2 เรื่องหลัก คือ น้ำท่วม และความกังวลจากภาพการเมืองที่ดูไม่นิ่งว่าจะมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด รัฐบาลจะเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในปี 57 ได้หรือไม่ เพราะต้องรอการตีความร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ประกอบกับยังไม่มั่นใจในโครงการ 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตลดลงมาก" นายธนวรรธน์ พลวชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

ปัจจัยลบที่สำคัญ ประกอบด้วย ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม, ความล่าช้าของพ.ร..บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่ไม่สามารถใช้ได้ทัน 1 ต.ค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการ GDP ปี 56 เหลือขยายตัว 3.7% จากเดิมคาดเติบโต 4.5%, ขณะที่หลายหน่วยงานปรับลดคาดการณ์การส่งออกปีนี้เหลือเติบโตแค่ 1-3% เท่านั้น และ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง จากคำร้องคัดค่านการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ

ส่วนปัจจัยบวกมีเพียงเรื่องค่าเงินบาทที่ปรับอ่อนค่าลง และราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับลดลง

โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดการณ์ว่า การบริโภคของประชาชนในปัจจุบันจะยังคงชะลอตัวไปจนถึงกลางไตรมาส 4/56 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังวิตกกังวลและรอดูสถานการณ์ที่เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง

ทั้งนี้มองว่า การปรับตัวด้านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นตัวขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลสามารถคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยพยุงเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน ตลอดจนเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น จึงจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้

"ตอนนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นทิศทางขาลง ค่าเฉลี่ยรายไตรมาสจะพบว่ามีสัญญาณลดลง กำลังซื้อยังไม่กลับมา เพราะคนห่วงเรื่องข้าวของแพง จึงขาดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย และมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ใช่ขาขึ้น...ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากที่เราเคยคาดว่าจะเงยหัวขึ้นในเดือนตุลาคม อาจจะเลื่อนไปเป็นเดือนพฤศจิกายน หลังจากเห็นความชัดเจนเรื่อง QE ของสหรัฐ, การแก้ปัญหาเพดานหนี้, การปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐ และงบประมาณรายจ่ายปี 57 ช่วงเดือนพฤศจิกายนน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ