(เพิ่มเติม1) "กิตติรัตน์"หวังท่องเที่ยว Q4/56 ขับเคลื่อนศก.ห่วงการเมืองกระทบเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 11, 2013 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ยังหวังว่าการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4/56 จะสามารถเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในปี 56 ได้ พร้อมระบุว่าขณะนี้นักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย แต่หากการเมืองไม่เป็นไปตามกรอบประชาธิปไตยก็จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้

สำหรับปัจจัยหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, ความเสถียรภาพของราคา ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการกระจายรายได้

นายกิตติรัตน์ มั่นใจว่าการลงทุนในโครงสร้าง 2.2 ล้านล้านบาทนั้น จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ ถึงแม้ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่จะสามารถเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้ในปี 2557 และเริ่มดำเนินโครงการในปี 2558 ซึ่งประเมินว่าอาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่พร้อมดำเนินการอยู่แล้วหลายโครงการ

ทั้งนี้ มองว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 (ต.ค.56- ก.ย.57) จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงจะมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเหลื่อมปีที่ค้างเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 56 (ต.ค.55-ก.ย.56 ) เข้าสู่ระบบประมาณ 1.46 แสนล้านบาท

สำหรับกรณีที่ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้มีความผันผวน ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองนั้น มองว่าเป็นเรื่องของตลาดทุนที่มีอุปสงค์และอุปทานถึงแม้ดัชนีจะมีการปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ที่พร้อมจะเข้าไปลงทุนเช่นกัน

สำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทยปี 57 มองว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากความไม่ชัดเจนของมาตรการ QE ของสหรัฐ ทำให้เกิดการไหลเข้าออกของเงินทุนส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว ดังนั้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2557 รวมทั้งเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และกระตุ้นการส่งออกควบคู่กัน ซึ่งการลงทุนมั่นใจว่าจะไม่ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเป็นภาระงบประมาณ โดยมีการคำนวณอยู่ในระดับร้อยละ 36 ของงบประมาณ แต่ยอมรับว่า GDP ในปีนี้อาจไม่เติบโตไปตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.7%

ด้านนางรุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 57 จะ"ฟื้น"แต่ไม่ "ฟู" โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นกว่าปีนี้ตามเศรษฐกิจโลก แต่จะไม่มีพระเอกที่โดดเด่นที่จะมาผลักดัน อย่างปี 55 ที่มีเรื่องของการบริโภคของภาคเอกชน การใช้จ่ายในการซ่อมสร้างหลังน้ำท่วมใหญ่, ปี 53 พระเอกคือการส่งออกหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวมาจากวิกฤต แต่สำหรับปี 57 จะได้หลายปัจจัยประกอบกันเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การส่งออกจะดีขึ้น การลงทุนของภาคเอกชน การบริโภคของภาคเอกชน และมีการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

"ปี 57 ไม่มีตัวไหนเป็นพระเอก แต่จะดีกว่าปีนี้ ซึ่งตัวงบ 2 ล้านล้านบาท จะจุดประกายทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมดีขึ้น"

ทั้งนี้ คาดว่า จีดีพีปี 57 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.8% ซึ่งมองจากค่าความเป็นกลางในสถานการณ์ที่เป็นไปได้

การใช้จ่ายของภาครัฐในปี 57 หวังว่ากลับมาปกติ จากปี 56 มีการใช้ภาครัฐ 90.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้า เทียบจากปี 51-55 มีการใช้จ่ายภาครัฐ 93% หวังว่าในปี 57 จะกลับมาฟื้นตัวหรือดีกว่าปีนี้ ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นตัวจุดประกายให้กับภาคเอกชน โดยขึ้นกับสถานการณ์การเมือง

ส่วนความเสี่ยงในปี 57 มี 4 ข้อได้แก่ เศรษฐกิจโลกแม้ดูดีขึ้นแต่อย่าวางใจ เพราะจะมีเรื่องการลดมาตรการ QE , หลายประเทศจะมีการปรับนโยบายการเงินให้มีการผ่อนคลายน้อยลง , การลดมาตรการ QE ในปีนี้อาจจะไม่ชัดเจนแต่ปีหน้าคาดว่าจะลด มาตรการ QE ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศ แม้ว่าจะมองว่าเป็นระยะสั้น แต่จะมีผลต่อการใช้จ่ายของภาครัฐน้อยลง และ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)กล่าวว่า เศรษฐกิจในปีหน้าจะเติบโตได้ในระดับ 4-4.5% หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐได้ 80% ของงบเบิกจ่ายทั้งหมด และการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นสามารถเป็นตัวประกอบเสริมการเติบโต โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 8% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลัก คือสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า มาจากสินค้ากลุ่มรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งน่าจะเห็นโครงการภาครัฐชัดเจนมากขึ้น แต่ถึงไม่มีโครงการภาครัฐ แต่ก็ยังมีงบกลางปี ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทออกมา

รวมทั้งประมาณการค่าเงินบาทปีหน้าอยู่ที่ 31 - 32 บาท/ดอลลาร์ แม้เงินทุนไหลออกจากการลดมาตรการ QE แต่ไทยมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งน่าจะรองรับกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ขณะที่ต้นทุนกู้ยืมเงินจะสูงขึ้น

ขณะที่นางอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าการส่งออกที่ฟื้นตัวน่าจะอยู่ที่ระดับ 9% หรืออาจจะ 2 Digits, การบริโภคของภาคเอกชน และการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ยิ่งถ้าเกิดได้ในไตรมาส 2 ของปี 57 เมื่อบวกกับปัจจัยจากเศรษฐกิจต่างประเทศ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ 5.5% แต่ถ้าการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาทยังไม่สามารถเกิดได้ จีดีพีปี 57 น่าจะโตในระดับ 4.3% ส่วนปัจจัยการเมืองมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า สำหรับปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 4.5% แต่อาจจะมีการปรับลดประมาณการครั้งนี้ลงได้ เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องของการส่งออกว่าจะเป็นอย่างไร ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐที่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการซึ่งโครงการพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทที่เรื่องดังกล่าว ยังค้างอยู่ในการพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา รวมถึงโครงการบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเช่นเดียวกัน

สำหรับสถานการณ์การชุมนุมการเมืองของไทยในขณะนี้มองว่ายังไม่ชัดเจน เนื่องจากมีข่าวสถานการณ์สำคัญอื่นกลบอยู่ เช่น ข่าวภัยพิบัติที่ฟิลิปปินส์ ข่าวเกี่ยวกับอิหร่าน แต่ประเด็นสำคัญของการเมืองไทยคือประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศไทยต่อไปได้หรือไม่เริ่มมีมากขึ้น รวมถึงวันที่ 20 พ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของส.ว. ประเด็นร้อนของวันนี้คือศาลโลกจะพิพากษาคดีปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีเรื่องของมาตรา 190 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะส่งผลให้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) มองเศรษฐกิจปีหน้าน่าจะทรงตัวจากปีนี้ เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกมาก จึงต้องติดตามเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น แต่ยังดีที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีการค้าดี และไทยก็เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน

"ทุกวันนี้กลุ่มปตท.เข้าไปทำธุรกิจครบทุกประเทศในอาเซียน เช่น พม่า กลุ่มปตท.เข้าไปลงทุนมากที่สุด รองลงมา อินโดนีเซีย เวียดนาม ...ปตท.บุกในอาเซียน ทั้งเวียดนาม ลาว เขมร ไทย พม่า ใน 5 ประเทศนี้ ถ้าการขนส่งทางบกทะลุไปได้จะดีมาก เอา 5 ประเทศนี้ให้อยู่ เน้นทำธุรกิจ รอ AEC เปิดเราก็น่าจะใหญ่ใน 5 ประเทศที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงธุรกิจ"นายไพรินทร์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ