ม.หอการค้า ชี้ปี 57 ศก.ไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อขึ้นกับเสถียรภาพทางการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 17, 2013 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินถึงสถานการณ์ทางการเมืองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้า โดยแบ่งแนวทางที่มีโอกาสเป็นไปได้มากสุดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกสถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพ มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และการลงทุนของภาครัฐดำเนินการได้ใกล้เคียงตามแผนที่วางไว้ ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะเติบโตได้ราว 4.0-4.5% ซึ่งในเงื่อนไขนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด

ส่วนกรณีที่ 2 หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่ค่อยมีเสถียรภาพ รัฐบาลไม่ค่อยมีเสถียรภาพ และการลงทุนของภาครัฐดำเนินการได้ต่ำกว่าแผนที่วางไว้ ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นเล็กน้อย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 มีโอกาสเติบโตได้ 3.0-4.0% ซึ่งเงื่อนไขนี้มีความเป็นไปได้รองลงมา

นายธนวรรธน์ มองว่าทางออกประเทศไทยในขณะนี้ อยู่ที่การหาทางให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ ซึ่งมีทางออกอยู่ 2 ทาง คือ ทางแรก การเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 และมีฉันทามติว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจจะไม่มีการลงทุนในโครงการใดๆ ใหม่เพิ่มเติมไปจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลใหม่จะเน้นที่การปฏิรูปการเมืองเป็นหลักสำคัญ

ส่วนทางที่สอง คือการเข้าสู่แนวทางการปฏิรูปการเมืองให้ได้ก่อน เพื่อให้มีรัฐบาลที่ชอบธรรมเข้ามาบริหารจัดการให้ทุกคนได้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่เป็นธรรม รวมทั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเป็นธรรม

"2 ทางนี้เท่านั้น อะไรก็ได้ที่ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ เพราะเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และพร้อมที่จะทรุดตัวลงได้ง่ายมาก" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยต้องเกิดสูญญากาศทางการเมืองโดยไม่มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.57 นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า หากมีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นโดยวิธีการสมัครใจ ก็จะทำให้การเมืองพร้อมที่จะเข้าสู่ความมีเสถียรภาพได้ แต่หากเป็นการปฏิรูปโดยวิธีการบังคับ ก็อาจจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพน้อยกว่าการทำด้วยความสมัครใจ

"หากมีการปฏิรูปทางการเมือง และมีรัฐบาลรักษาการซึ่งเป็นที่ยอมรับ เสถียรภาพทางการเมืองก็จะดี การจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว การลงทุนก็จะกลับสู่ปกติ เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนโดยการส่งออก ท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน ซึ่ง GDP น่าจะโตในระดับ 4% ได้ในระยะสั้น...ในมติด้านเศรษฐกิจแล้ว ไม่สำคัญว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นหรือไม่ แต่สำคัญที่ว่าการเมืองมีเสถียรภาพหรือไม่" นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ