กรมเชื้อเพลิง เร่งสำรวจปิโตรเลียมเพิ่ม หลังปริมาณสำรองเหลืออีก 7 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 9, 2014 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว ที่ประเมินในปี 2556 มีปริมาณ 9.04 ล้านล้าน ลบ.ฟุต ลดลง 10% จากที่ประเมินในปี 55 (10.06 ล้านล้าน ลบ.ฟุต) ถ้าหากไม่มีการสำรวจพิสูจน์หาปริมาณสำรองขึ้นมาเพิ่มเติมได้ ในขณะที่การผลิตอยู่ที่อัตราปัจจุบันต่อไป ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้จะสามารถใช้ได้อีกประมาณ 7 ปีเท่านั้น

ในความเป็นจริงความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การสำรวจหาปริมาณสำรองปิโตรเลียมหาได้น้อยลง ในอนาคตประเทศจึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก๊าซนำเข้าเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนการผลิตสินค้าของประเทศ ทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศจึงจำเป็นต้องดำเนินการสำรวจหาปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติขึ้นมาทดแทนส่วนที่ผลิตใช้ไปในแต่ละปี ความพยายามในการสำรวจนี้จะช่วยยืดเวลาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศนี้ให้อยู่ได้นานมากกว่า 7 ปี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

สำหรับสถานการณ์ด้านการจัดหาปิโตรเลียมของประเทศว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัมปทานปิโตรเลียมรวมจำนวน 53 สัมปทาน 67 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นแปลงสำรวจบนบก จำนวน 31 แปลง และแปลงสำรวจในทะเล 36 แปลง โดยมีแหล่งปิโตรเลียมที่มีการผลิตจำนวน 60 แหล่ง และในปี 56 การจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งในประเทศ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย มีมูลค่ารวมกว่า 198,000 ล้านบาท

ในรอบปี 56 ประเทศไทยจัดหาปิโตรเลียมได้คิดเป็นประมาณร้อยละ 43 ของความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นของประเทศ โดยในส่วนของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความต้องการใช้ประมาณ วันละ 4,950 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ปริมาตรที่ค่าความร้อนจริง – Actual Heating Value) สามารถจัดหาได้จากแหล่งภายในประเทศในอัตราเฉลี่ย 3,037 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียอีก 729 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าจากประเทศพม่าประมาณ 990 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้าในรูปแบบ LNG อีกประมาณ 190 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนั้นในรอบปี 56 ประเทศไทยยังได้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวในอัตราเฉลี่ยประมาณวันละ 92,880 บาร์เรล และน้ำมันดิบอีก 150,206 ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศของปี 56 นี้ ถือเป็นอัตราเฉลี่ยที่สูงสุดของประเทศแล้ว เนื่องจากไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆขนาดใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา จึงไม่มีแผนการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติใดๆ ที่จะมาเพิ่มอัตราการผลิตได้อย่างมีนัยในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มในอนาคต หากประเทศมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี และถ้าไม่มีการสำรวจพบปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ เพิ่มเติม ภายในปี 65 ปริมาณการจัดหาปิโตรเลียมภายในประเทศจะลดเหลือประมาณร้อยละ 18 ของความต้องการใช้พลังงาน (2.6 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพยายามจะรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมให้ได้นานที่สุด โดยการเร่งรัดการสำรวจปิโตรเลียมเพื่อพิสูจน์หาปริมาณสำรองปิโตรเลียมมาชดเชยที่ส่วนที่ผลิตใช้ไปในแต่ละปี

สำหรับการลงทุนด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปี 56 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 140,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 62 ของการลงทุนทั้งหมด นอกจากนั้นเป็นการลงทุนในด้านการผลิตและขาย การสำรวจ และการบริหารงาน ตามลำดับ โดยหากคิดรวมทั้งปี คาดว่ามูลค่าการลงทุนในปี 56 จะสูงกว่าปี 55 ประมาณร้อยละ 16

จากผลการดำเนินงานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศได้รับรายได้และผลประโยชน์จากการประกอบกิจการในประเทศ รวมทั้งสิ้นประมาณ 198,139 ล้านบาท (สูงขึ้นกว่าปี 55 ประมาณร้อยละ 20) โดยแบ่งเป็น ค่าภาคหลวงประมาณ 65,198 ล้านบาท ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมประมาณ 110,620 ล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 3,244 ล้านบาท โดยรัฐได้นำค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้ส่วนหนึ่ง ไปจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในพื้นที่ที่มีการผลิตปิโตรเลียม และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 5,244 ล้านบาท

ในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย คาดว่ารัฐบาลจะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ประมาณ 19,077 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนนี้ได้นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศต่อไป

ในช่วงปีที่ผ่านมาจากการส่งเสริม สนับสนุนการจัดหาแหล่งปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ส่งผลให้สามารถค้นพบแหล่งที่ปิโตรเลียมที่น่าสนใจ เช่น แหล่งดงมูล ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่นับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์แหล่งที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับจากแหล่งน้ำพอง และแหล่งสินภูฮ่อม ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงแก่โรงไฟฟ้าน้ำพอง ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยปัจจุบันแหล่งก๊าซธรรมชาติดงมูลได้รับอนุมัติให้เป็นพื้นที่ผลิต และอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งและการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติในอนาคตต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะมีปริมาณสำรองประมาณ 96,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ