สภาที่ปรึกษาฯ เสนอ 12 แนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจควบคู่ปฏิรูปการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 19, 2014 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศควบคู่การปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย
"การปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยให้พ้นจากวังวนของความขัดแย้งซึ่งเรื้อรังมาเป็นเวลาหลายปี แนวทางการปฏิรูปยังไม่ชัดเจน เพราะขาดแนวทางของการปฏิรูป การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้คงไม่ได้อยู่เฉพาะประเด็นทางการเมืองอย่างเดียว จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย"นายธนิต กล่าว

แนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การปฏิรูปเศรษฐกิจให้ปลอดจากการครอบงำของภาคการเมือง พรรคการเมืองและรัฐบาลจะต้องไม่เข้าไปกำหนดนโยบายประชานิยม เพื่อบิดเบือนราคาสินค้าและต้นทุนของภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งภาคอุตสาหกรรม บริการ เกษตรกรรม และการไม่เข้าไปแทรกแซงราคาหรือต้นทุนของภาคเอกชน เช่นค่าแรงขั้นต่ำ การปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐฯ ต้องมีความโปร่งใส และการทบทวนโครงการรับจำนำข้าว เพราะหากดำเนินการต่อจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกของข้าวไทย หากประสงค์จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาควรหาวิธีการอื่นๆ ซึ่งไม่กระทบต่อโครงสร้างราคาและคุณภาพของสินค้าเกษตร

2.การปฏิรูประบบราชการไทยให้ปลอดจากคอร์รัปชั่น การแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากเหง้าของการทุจริตในระบบราชการ การคอร์รัปชั่นเป็นต้นทุนของธุรกิจ มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทของ ปปช. ให้เป็นหน่วยงานตรวจสอบและพิจารณาคดี เฉพาะคอร์รัปชั่นซึ่งเกี่ยวข้องกับนักการเมือง และให้มีหน่วยงานในรูปแบบของสำนักงานป้องกันคอร์รัปชั่นของราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เป็นหน่วยงานสำหรับตรวจสอบมีระบบการตรวจสอบข้าราชการโดยเฉพาะ

3.การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของภาคเกษตรด้วยการปฏิรูประบบเกษตรแผนใหม่ โครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของภาคเกษตรและทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองและถูกครอบงำโดยภาคการเมืองในรูปแบบต่างๆ เช่น นโยบายประชานิยม การเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน จะต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และปศุสัตว์ รวมทั้งประมง ด้วยการให้มีการแปรรูป รวมทั้งการมียุทธศาสตร์การแปรรูปสินค้าพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อยและปาล์มน้ำมันไปสู่พลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ หรือไบโอพลาสติก ขณะที่ยางจะต้องมีการพัฒนาไปสู่การแปรรูปลดสัดส่วนการส่งออกในรูปของยางที่เป็นวัตถุดิบให้มากที่สุด การวางแผนการผลิตล่วงหน้า การจัดโซนนิ่ง ส่งเสริมความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสินค้าเกษตร เช่น ตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตร รวมทั้งแนวทางการผลักดันตราสารอนุพันธ์สินค้าเกษตร

4.ส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี การผลักดันส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรของ SME ให้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายคลัสเตอร์และโซ่อุปทานเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนบทบาทของธนาคารเอสเอ็มอีแบงค์ ซึ่งขาดความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากติดอยู่ในระบบของการเป็น"ธนาคาร" โดยควรปรับเปลี่ยนเป็นสถาบันส่งเสริมสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งทำหน้าที่ในการปล่อยสินเชื่อภายใต้งบประมาณสนับสนุนของรัฐ

5.การส่งเสริมพัฒนาการส่งออกและการส่งออกค้าผ่านแดนอย่างเป็นระบบ ควรจัดตั้งเป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ" โดยนำหน่วยงานต่างๆของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก รวมทั้งภาคเอกชนเข้ามาทำงานเชื่อมโยงบูรณาการทั้งด้านแผนงาน ยุทธศาสตร์และงบประมาณการส่งออกอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาเชิงประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุน ด้านคุณภาพ ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านมาตรฐานและNTBs ของประเทศคู่ค้าจะต้องมีการพัฒนาอย่างบูรณาการและต่อเนื่องโดยเฉพาะการพัฒนาผู้ส่งออกในกลุ่มรับจ้างการผลิต (OEM) และกลุ่ม SMEs ส่งออกภาคเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการค้าชายแดนทั้งด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน และการพัฒนาด่านชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจ

6.ส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยภายใต้บริบทของการเปิดเสรีการค้า ภายใต้กรอบต่างๆ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมภายใต้การเปิดเสรีและ AEC เพื่อเป็นแหล่งรองรับการจ้างงาน ในอนาคตทั้งที่มาจากระบบการศึกษาและไหลออกจากภาคเกษตร ด้วยการปฏิรูปทั้งโครงสร้างอุตสาหกรรม ด้านสถาบันการศึกษา กฎหมายการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่แข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมแบบคลัสเตอร์ เชื่อมโยงทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

7.ปฏิรูปและแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน การพิจารณาแก้ไขกฎหมายซึ่งกฎหมายหลายฉบับของไทยที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายที่ล้าสมัย ขัดแย้งกับการทำธุรกรรมด้านการค้า การลงทุน กฎหมายผังเมือง รวมถึงด้านโลจิสติกส์ทั้งข้ามแดนและระหว่างประเทศ การแก้ไขกฎหมายภาษีที่มีความซ้ำซ้อนและขาดความเหมาะสม รวมทั้งกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ การขอและต่อใบอนุญาตต่างๆ สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว มีหน่วยงานของรัฐหลายกระทรวงเกี่ยวกับการควบคุมแรงงานต่างด้าวซึ่งมีความซ้ำซ้อนและขัดแย้ง และก่อให้เกิดคอร์รัปชั่น การปฏิรูปด้านกฎหมายธุรกิจในการให้ภาคเอกชน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการค้าต่างๆ ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุ่มตลาด (ANTI – DAMPING) และกฎหมายว่าด้วยการครอบงำตลาด

8.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงโลจิสติกส์กับภาคการผลิตและประเทศเพื่อนบ้าน การเชื่อมโยงระบบขนส่งและโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต การพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการขนส่งเพื่อเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบรางและการขนส่งทางน้ำ จะต้องเชื่อมโยงกับภาคการผลิต การทบทวนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้เงินลงทุนสูงและอาจไม่คุ้มค่ากับใช้ประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย เช่น โครงการท่าเรือทวาย ฯลฯ

9.การปฏิรูปด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม โทรคมนาคมและการวิจัยเพื่อการพัฒนา การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงส่งเสริม R&D ทั้งในภาควิชาการ และภาคเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และตรงความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตผลต่อไร่ (YIELD) การส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยรัฐจะต้องมีงบประมาณสนับสนุน อีกทั้งต้องมีมาตรการการคลังเข้ามาสนับสนุน

10. การปฏิรูปด้านการศึกษา การทบทวนและปฏิรูประบบการศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงการปรับคุณวุฒิ โดยการเทียบประสบการณ์การทำงาน เพื่อให้แรงงานนอกระบบการศึกษาสามารถปรับคุณวุฒิวิชาชีพเข้ากับระบบการศึกษา และส่งเสริมให้มีการศึกษาทั้งแบบสหกิจศึกษาและโรงเรียนในโรงงาน เพื่อเป็นการพัฒนาแรงงานระดับกลางในภาคอุตสาหกรรมให้มีทักษะสอดคล้องกับมาตรฐานของอาชีวศึกษา

11.การปฏิรูปตลาดทุนและตราสารหนี้ ต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานทางการเงิน ทั้งระดับการศึกษา ภาครัฐ ภาคประชาชน การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME สามารถเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ ในฐานะเป็นเครื่องมือระดมทุนเพิ่มสภาพคล่องและดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจ นอกจากนี้การพัฒนาตลาดเกษตรล่วงหน้า เช่นยางพารา,ข้าว,มันสำปะหลัง ฯลฯ จะทำให้เกษตรกรไทยมีทางเลือก ที่จะผลิตหรือกำหนดราคาที่จะขาย อีกทั้งตลาดเกษตรล่วงหน้าจะเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของราคาสินค้าเกษตร และทำให้เกษตรกรปลอดจากการครอบงำทางการเมือง

12.การปฏิรูปมาตรการการเงิน การคลัง และการส่งเสริมการลงทุน ทุกครั้งที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ มาตรการการลดภาษี หรือการส่งเสริมการลงทุนด้วยการลดภาษีต่างๆ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย SME เกษตรกร ภาคบริการไม่สามารถเข้าถึงนโยบายดังกล่าว ขณะเดียวกันดอกเบี้ยนโยบายมักไม่สอดคล้องกับดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินยังคงกำหนดอัตราดอกเบี้ยของผู้ประกอบการรายย่อย มีอัตราที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ต้นทุนของผู้กอบการของSME สูงกว่า ขณะที่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่า SME นอกจากนี้ควรปรับบทบาทของ BOI ด้วยการทบทวนการลงทุนจากต่างประเทศ ควรเน้นโครงการซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือลงทุนสูง ไม่ควรส่งเสริมโครงการซึ่งจะเข้ามาแข่งขันแย่งตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ของผู้ประกอบการไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ